วันพุธที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การบริหารจัดการที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล

วันนี้เรามาต่อจากคราวที่แล้วนะขอรับ หลังจากที่เราวิเคราะห์บริบทแล้วเราจะต้องเข้าใจหลักการบริหารจัดการที่ดีตามหลักธรรมาภิบาลนะครับ ซึ่งหลักธรรมาภิบาลนั้นมี อยู่ 6 หลักการได้แก่
1. หลักนิติธรรม หมายถึง หลักการที่มีความมุ่งหมายที่จะคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ปฏิบัติงานภายในองค์การ โดยมีกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับต่างๆที่เป็นธรรม มีการบังคับใช้กฎหมาย ข้อบังคับต่างๆอย่างเสมอภาค และไม่มีการเลือกปฏิบัติ ไม่มีมาตรการเชิงซ้อน (สองมาตรฐาน) มีการดูแลการปฏิบัติให้เป็นไปตามกรอบของกฎหมาย ไม่ให้มีการใช้กฎหมายไปแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ มีการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ข้อบังคับต่างๆให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยและเป็นธรรม เป็นที่ยอมรับของสังคม และคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพ ความยุติธรรมของบุคคลในองค์การ
2. หลักคุณธรรม หมายถึง การยึดมั่นในความถูกต้องดีงาม ทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา ปลอดจากการทำผิดวินัย ปลอดจากการทำผิดกฎหมาย ปลอดภัยจากการทำผิดมาตรฐานวิชาชีพ และส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ใต้บังคับบัญชาพัฒนาตนเองไปพร้อมกัน เพื่อให้มีความซื่อสัตย์ จริงใจ ขยัน อดทด มีระเบียบวินัย ประกอบอาชีพสุจริต
3. หลักความโปร่งใส หมายถึง การบริหารงานที่ยึดหลักการเปิดเผยตรงไปตรงมาและเข้าใจง่าย มีความชัดเจนเกี่ยวกับการบริหารงานในทุกๆด้านเช่น การมีระบบงานที่ชัดเจน มีระบบคุณธรรมในการเลือกหรือแต่งตั้งบุคลากร รวมถึงการให้คุณให้โทษ การเปิดโอกาสให้สังคมภายนอกเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและผลการดำเนินงานที่ผ่านมา โดยองค์ประกอบเครื่องชี้วัดความโปร่งใสมี 4 ด้าน ประกอบด้วย ความโปร่งใสด้านโครงสร้างระบบงาน ด้านระบบการให้คุณ ด้านระบบการให้โทษ และด้านการเปิดเผยระบบงาน
4. หลักการมีส่วนร่วม หมายถึง กระบวนการทีเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมในการรับรู้ การบริหารเกี่ยวกับการตัดสินใจในเรื่องต่างๆโดยการให้ข้อมูล แสดงความคิดเห็น ให้คำปรึกษาร่วมวางแผน ร่วมการปฏิบัติ รวมทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ประกอบได้ด้วยการแบ่งสรรข้อมูลร่วมกัน การเปิดรับความคิดเห็นจากประชาชน การวางแผนร่วมกันและการพัฒนาศักยภาพของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆให้สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้
5. หลักความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้ หมายถึง หลักการเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบซึ่งสะท้อนความรับผิดชอบต่อสาธารณะ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เป็นการแสดงถึงความรับผิดชอบในการตัดสินใจ ความรับผิดชอบในผลงานหรือปฏิบัติหน้าที่ให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสาธารณะและมีระบบติดตามประเมินผล
6. หลักความคุ้มค่า หรือหลักประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผล หมายถึง การบริหารจัดการที่คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดแก่ส่วนรวมในการบริหารจัดการและการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดและยั่งยืนรวมทั้งมีการป้องกันรักษาสิ่งแวดล้อมและมีความสามารถในการแข่งขันกับภายนอก
สรุปแล้วหลักการจำ 6 หลักก็คือ นิติ คุณ ใส ร่วม รับ คุ้ม เป็นอย่างไรบ้างครับพอจะรู้หลักการทั้งหกแล้วนะครับ หวังว่าจะนำไปใช้ในการสอบ หรือตอบคำถามต่างๆได้เป็นอย่างดีนะ สำหรับวันนี้ก่อนจบก็ขอฝากข้อคิดเอาไว้หน่อยนะขอรับ เขาบอกว่าโลกมีไว้เหยียบ ไม่ใช่มีไว้แบก .......เดี๋ยวคราวหน้าพบกันใหม่ขอรับ

การวิเคราะห์บริบททางการศึกษา

สวัสดีครับขอต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ครูสุโขทัย ห่างหายไปเกือบปีแล้วซินะ เนื่องจากภาระกิจมากมายเสียเหลือเกิน เอาละมาเริ่มต้นกันใหม่ก็แล้วกันเนอะ วันนี้เรามาเริ่มต้นการบริหารสถานศึกษาแบบจริงๆจังกันเลย โดยเริ่มต้นจาการวิเคราะห์บริบทก่อนก็แล้วกัน
การวิเคราะห์บริบท: ความท้าทายของการบริหารการศึกษาในอนาคต
บริบททางการศึกษา มี 2 ประเภท คือ
1) บริบทที่เป็นความสัมพันธ์ภายในระบบการศึกษา หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นพื้นฐานทางการศึกษา ได้แก่ ครู ผู้อำนวยการสถานศึกษา อาคารเรียน งบประมาณ อุปกรณ์การศึกษา เป็นต้น
2) บริบทที่เป็นผลกระทบจากภายนอก ได้แก่ สังคม วัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม ประชากรศาสตร์ ความมั่นคงของชาติ เป็นต้น

การวินิจฉัยองค์การคือกระบวนการการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับองค์การ เพื่อทำความเข้าใจสภาพองค์การในปัจจุบันว่ามีความแตกต่างจากสภาพองค์การที่ต้องการจะเป็นในอนาคตอย่างไร ดังนั้นในการวินิจฉัยองค์การจำเป็นจะต้องมีเครื่องมือในการวินิจฉัย ซึ่งมีมากมายแต่ที่นิยมสูงสุดในการนำมาใช้คือ SWOT Analysis การวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง ซึ่งมาจากคำย่อของ 4 คำ ได้แก่
S- Strengths หรือจุดแข็ง
W- Weaknesses หรือจุดอ่อน
O- Opportunities หรือโอกาส
T- Treats หรือภาวะคุกคาม (อุปสรรค)
ซึ่งในการทำ SWOT Analysis ให้มีประสิทธิภาพ จำเป็นจะต้องมีการวิเคราะห์ภายนอกและภายในดังนี้
การวิเคราะห์บริบทภายนอกด้วย C-PEST
C-Customer ,Competitors ลูกค้าหรือผู้รับบริการ เป็นอย่างไรซึ่งในที่นี้หมายถึง นักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชนที่อยู่โดยรอบสถานศึกษา
P-Politics สถานการณ์ทางการเมือง นโยบายต่างๆของกระทรวงศึกษาธิการ สพฐ. เช่น พรบ. กฏระเบียบต่างๆ
E- Economics, Environment สภาพแวดล้อมหรือสภาพเศรษฐกิจ ของชุมชนที่อยู่โดยรอบสถานศึกษา
S- Society สภาพสังคม วัฒนธรรม ค่านิยม ของประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรองสถานศึกษา
T- Technology เทคโนโลยี ระบบสารสนเทศ เทคโนโลยีทางการศึกษา การศึกษาใหม่ๆทีเกิดขึ้น
การวิเคราะห์บริบทภายในด้วย 7Ss
S- Strategy ยุทธศาสตร์ ทิศทางและขอบเขตที่องค์การจะดำเนินไปในระยะยาวนั้นเป็นอย่างไร
S- Structure โครงสร้างองค์การ มีการแบ่งงาน หน้าที่ความรับผิดชอบอย่างไร
S- System ระบบงานที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการในการดำเนินงานขององค์การนั้นเป็นอย่างไร เช่นระบบการเงิน ระบบพัสดุ ระบบการติดตาม เป็นต้น
S- Skill ทักษะ ความสามารถหรือปัจจุบันในระบบราชการใช้คำว่าสมรรถนะของบุคลากรในองค์กรเป็นอย่างไร
S- Shared values ค่านิยมร่วม หมายถึงสิ่งบุคลากรส่วนใหญ่ในองค์การเห็นว่าเป็นสิ่งดี พึงปฏิบัติจนกลายเป็นวัฒนธรรมในการทำงานทำให้เกิดปทัสถาน ขององค์การ
S- Staff บุคลากรในองค์กรเป็นอย่างไร มีจำนวนเพียงพอและเหมาะสมกับความต้องการหรือไม่ และมีบุคลากรที่จะตอบสนองการเติบโตขององค์การในอนาคตหรือไม่
S- Style รูปแบบการบริหารจัดการองค์การของผู้บริหารเป็นอย่างไร ภาวะผู้นำของผู้บริหาร

เป็นอย่างไรบ้างครับ หวังว่าคงเข้าใจนะครับเพราะว่าสรุปเฉพาะสิ่งที่จะเป็นและนำไปอ่านสอบนะขอรับจำให้ได้ก็แล้วกันส่วนรายละเอียดผมว่าทุกคนคงเข้าใจกันดีอยู่แล้วละนะ เดี๋ยวคราวหน้าเรามาศึกษาการบริหารจัดการที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล ก้อแล้วกันนะครับ ส่วนวันนี้ขอฝากข้อคิดไว้ว่า ปัญหามีไว้ให้แก้ ไม่ใช่มีไว้เพื่อปวดหัวนะครับ เพราะฉะนั้นทุกปัญหามีทางแก้ แต่ถ้าแก้ไม่ได้เขาไม่เรียกว่าปัญหาครับ.........