วันจันทร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2555

ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการลาของข้าราชการ พ.ศ.2555

ปฐมฤกษ์เบิกฟ้ามาพบกันใหม่...จากที่ห่างหายหน้าตาไปซะนาน.....เพราะงานมีมากมายนักหนา...แต่คงทันเวลาที่ทุกท่านจะได้อ่านก่อนสอบกันพอดีล่ะ วันนี้เรามาเริ่มที่สรุประเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการลาของข้าราชการ พ.ศ.2555 ก็แล้วกันนะ

ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 24 เดือนมกราคม 2555

บังคับใช้วันที่ 25 เดือนมกราคม พ.ศ.2555

ประกาศ วันที่ 11 มกราคม 2555 (นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี)

-ในกรณีที่ผู้มีอำนาจอนุญาตการลาตามระเบียบนี้ไม่อยู่ หรือไม่สามารถปฏิบัติราชการได้และมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนไม่อาจรออนุญาตจากผู้มีอำนาจจากผู้มีอำนาจอนุญาตได้ ให้ผู้ลาเสนอหรือจัดส่งใบลาต่อผู้มีอำนาจชั้นเหนือขึ้นไปเพื่อพิจารณา และเมื่ออนุญาตแล้วให้แจ้งให้ผู้มีอำนาจอนุญาตตามระเบียบนี้ทราบด้วย

-ผู้มีอำนาจพิจารณาหรืออนุญาตการลาจะมอบหมายหรือมอบอำนาจโดยทำเป็นหนังสือให้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นเป็นผู้พิจารณาหรืออนุญาตแทนก็ได้โดยให้คำนึงถึงระดับตำแหน่งและความรับผิดชอบของผู้รับมอบอำนาจเป็นสำคัญ

-การลาของข้าราชการในช่วงก่อนและหลังวันหยุดราชการประจำสัปดาห์หรือวันหยุดราชการประจำปี เพื่อให้มีวันหยุดต่อเนื่องกันให้ผู้มีอำนาจพิจารณาหรืออนุญาตใช้ดุลยพินิจตามความเหมาะสมและจำเป็นที่จะอนุญาตให้ลาได้โดยมิให้เสียหายแก่การปฏิบัติราชการ

-การนับวันลาตามระเบียบนี้ให้นับตามปีงบประมาณ

-การลาต่อไปนี้ให้นับเฉพระวันทำการ

1. ลาป่วย 2. ลาไปช่วยเหลือภริยาที่คลอดบุตร 3. ลากิจ 4. ลาพักผ่อน ( 2-4 ผู้บังคับบัญชามีสิทธิเรียกตัวมาปฏิบัติราชการระหว่างลาได้)

-การขออนุญาตไปต่างประเทศซึ่งอยู่ติดเขตแดนประเทศไทย ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอในท้องที่ที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศนั้นมีอำนาจอนุญาตให้ข้าราชการในราชการบริ หารส่วนภูมิภาคในสังกัดจังหวัดหรืออำเภอนั้นไปประเทศนั้นได้ดังนี้

ผู้ว่าราชการจังหวัด อนุญาตได้ไม่เกิน 7 วัน

นายอำเภอ อนุญาตได้ไม่เกิน 3 วัน

***ข้าราชการครูเป็นข้าราชการส่วนกลาง ต้องขออนุญาตเลขาธิการ สพฐ.***

การลาแบ่งออกเป็น 11 ประเภท ดังนี้

1.การลาป่วย

2. การลาคลอดบุตร

3. การลาไปช่วยเหลือภริยาที่คลอดบุตร (เพิ่มใหม่)

4. การลากิจส่วนตัว

5. การลาพักผ่อน

6. การลาอุปสมบทหรือการลาไปประกอบพิธีฮัจย์

7. การลาเข้ารับการตรวจเลือกหรือเข้ารับการเตรียมพล

8. การลาไปศึกษา ฝึกอบรม ปฏิบัติการวิจัย หรือดูงาน

9. การลาไปปฏิบัติงานในองค์กรระหว่างประเทศ

10.การลาติดตามคู่สมรส

11.การลาไปฟื้นฟูสมรรถภาพด้านอาชีพ (เพิ่มใหม่)

1.การลาป่วย

ข้าราชการซึ่งประสงค์จะลาป่วยเพื่อรักษาตัวให้เสนอหรือจัดส่งใบลาต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับจนถึงผู้มีอำนาจอนุญาตก่อน หรือในวันที่ลา เว้นแต่ในกรณีจำเป็นจะเสนอหรือจัดส่งใบลาในวันแรกที่มาปฏิบัติราชการก็ได้

ในกรณีที่ข้าราชการผู้ขอลามีอาการป่วยจนไม่สามารถจะลงชื่อในใบลาได้ จะให้ผู้อื่นลงแทนก็ได้แต่เมื่อสามารถลงชื่อได้แล้วให้เสนอหรือจัดส่งใบลาโดยเร็ว

การลาป่วยตั้งแต่ 30 วันขึ้นไปต้องมีใบรับรองแพทย์ ซึ่งเป็นผู้ที่ได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ เวชกรรมแนบไปกับใบลาด้วย ในกรณีจำเป็นหรือเห็นสมควรผู้มีอำนาจอนุญาตจะสั่งให้ใช้ใบรับรองแพทย์อื่นซึ่งผู้มีอำนาจอนุญาตเห็นชอบแทนก็ได้

การลาป่วยไม่ถึง 30 วัน ไม่ว่าจะเป็นการลาครั้งเดียวหรือหลายครั้งติดต่อกัน ถ้าผู้มีอำนาจอนุญาตเห็นสมควร จะสั่งให้มีใบรับรองแพทย์ประกอบใบลาก็ได้

2. การลาคลอดบุตร

การลาคลอดบุตรจะลาในวันที่คลอด ก่อนหรือหลังวันที่คลอดบุตรก็ได้ แต่เมื่อรวมวันลาแล้วต้องไม่เกิน 90 วัน

การลาคลอดบุตรคาบเกี่ยวกับการลาประเภทใดซึ่งยังไม่ครบกำหนดวันลาของการลาประเภทนั้นให้ถือว่าการลาประเภทนั้นสิ้นสุดลงและให้นับเป็นการลาคลอดบุตรตั้งแต่วันเริ่มวันลาคลอดบุตร

3. การลาไปช่วยเหลือภริยาที่คลอดบุตร

ข้าราชการซึ่งประสงค์จะลาไปช่วยเหลือภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายที่คลอดบุตรให้เสนอหรือจัดส่งใบลาต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับจนถึงผู้มีอำนาจอนุญาต ก่อนหรือในวันที่จะลา ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่คลอดบุตรและให้มีสิ่ทธิลาไปช่วยเหลือภริยาที่คลอดบุตรครั้งหนึ่งติดต่อกันได้ไม่เกิน 15 วันทำการ

ผู้มีอำนาจอนุญาตตามวรรคหนึ่งอาจให้แสดงหลักฐานประกอบการพิจารณาอนุญาตด้วยก็ได้

4. การลากิจส่วนตัว

ข้าราชการที่ประสงค์จะลากิจส่วนตัวให้เสนอหรือจัดส่งใบลาต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับจนถึงผู้มีอำนาจอนุญาต และเมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงจะหยุดราชการได้เว้นแต่มีเหตุจำเป็นไม่สามารถรอรับอนุญาตได้ทัน จะเสนอหรือจัดส่งใบลาพร้อมระบุเหตุจำเป็นไว้ แล้วหยุดราชการไปก่อนก็ได้ แต่จะต้องชี้แจงเหตุผลให้ผู้บังคับบัญชาทราบโดยเร็ว

ในกรณีมีเหตุพิเศษที่ไม่อาจเสนอหรือจัดส่งใบลาก่อนตามวรรคหนึ่งได้ให้เสนอหรือจัดส่งใบลาพร้อมทั้งเหตุผลความจำเป็นต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับจนถึงผู้มีอำนาจอนุญาตทันทีในวันแรกที่มาปฏิบัติราชการ

ข้าราชการที่ลาคลอดบุตรแล้วหากประสงค์จะลากิจส่วนตัวเพื่อเลี้ยงดูบุตรให้มีสิทธิลาต่อเนื่องจาการลาคลอดบุตรได้ไม่เกิน 150 วันทำการ

5. การลาพักผ่อน

ข้าราชการมีสิทธิลาพักผ่อนประจำปีในปีงบประมาณหนึ่งได้ 10 วันทำการ เว้นแต่ข้าราชการดังต่อไปนี้ไม่มีสิทธิลาพักผ่อนประจำปีได้คือรับการบรรจุเข้ารับการราชการยังไม่ถึง 6 เดือน

ในปีใดข้าราชการผู้ใดมิได้ลาพักผ่อนประจำปีหรือลาพักผ่อนประจำปีแล้วแต่ไม่ครบ 10 วันทำการ ให้สะสมวันที่ยังมิได้ลาในปีนั้นๆเข้ากับปีต่อๆไปได้แต่วันลาพักผ่อนสะสมรวมกับวันลาพักผ่อนในปีปัจจุบันจะต้องไม่เกิน 20 วันทำการ

สำหรับผู้ที่ได้รับราชการติดต่อกันมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี ให้มีสิทธินำวันลาพักผ่อนสะสมรวมกับวันลาพักผ่อนในปีปัจจุบันได้ไม่เกิน 30 วันทำการ

ข้าราชการในต่างประเทศในเมืองกำลังพัฒนาเช่นแอฟริกา ลาตินอเมริกา และอเมริกากลาง หรือเมือง

ที่อยู่ไม่ปกติ ให้มีสิทธิลาพักผ่อนเพิ่มขึ้นได้อีก 10 วันทำการ แต่จะไม่มีการสะสม

** ข้าราชการประเภทใดที่ปฏิบัติงานในสถานศึกษาและมีวันหยุดภาคการศึกษา หากได้หยุดราชการตามวันหยุดภาคการศึกษาเกินกว่าวันลาพักผ่อน(10 วันทำการ)ตามระเบียบนี้ ไม่มีสิทธิลาพักผ่อน

6. การลาอุปสมบทหรือการลาไปประกอบพิธีฮัจย์

ข้าราชการที่จะขอลาอุปสมบทหรือลาไปประกอบพิธีฮัจย์ จะต้องส่งใบลาก่อนวันอุปสมบทหรือไปประกอบพิธีฮัจย์ ไม่น้อยกว่า 60 วัน (ในกรณีเหตุพิเศษไม่อาจส่งใบลาได้ให้ชี้แจงเหตุผลและให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้บังคับบัญชา)

เมื่อได้รับอนุญาตให้ลาแล้วจะต้องอุปสมบทหรือไปประกอบพิธีฮัจย์ภายใน 10 วันนับแต่วันเริ่มลา และจะต้องมารายงานตัวเข้าปฏิบัติราชการภายใน 5 วัน นับแต่วันลาสิกขาหรือวันที่เดินทางกลังถึงประเทศไทย ทั้งนี้จะต้องนับรวมอยู่ภายในระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตการลา

7. การลาเข้ารับการตรวจเลือกหรือเข้ารับการเตรียมพล

ข้าราชการได้รับหมายเรียกเข้ารับการตรวจเลือกให้รายงานลาต่อผู้บังคับบัญชาก่อนวันที่เข้ารับการตรวจเลือกไม่น้อยกว่า 48 ชั่วโมง ส่วนการเตรียมพล ลาต่อผู้บังคับบัญชาภายใน 48 ชั่วโมงนับแต่ได้รับหมายเรียก ไปได้เลยไม่ต้องรอคำสั่งอนุญาต

หลังจากเข้าตรวจเลือกหรือเตรียมพลแล้วให้มารายงานตัวกลับเข้าปฏิบัติราชการตามปกติต่อผู้บังคับบัญชาภายใน 7 วัน เว้นแต่กรณีที่มีเหตุจำเป็น อาจขยายเวลาให้ได้แต่รวมแล้วไม่เกิน 15 วัน

8. การลาไปศึกษา ฝึกอบรม ปฏิบัติการวิจัยหรือดูงาน

ให้ส่งใบลาต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับจนถึงหัวหน้าส่วนราชการ

9. การลาไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศ

ให้ส่งใบลาต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับจนถึงรัฐมนตรีเจ้าสังกัด ข้าราชการที่ลาไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศที่มีระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี เมื่อปฏิบัติงานเสร็จแล้ว ให้รายงานตัวเข้าปฏิบัติราชการภายใน 15 วันนับแต่วันครบกำหนดเวลาและให้รายงานผลเกี่ยวกับการลาให้รัฐมนตรีทราบ ภายใน 30 วัน

10. การลาติดตามคู่สมรส

ให้ส่งใบลาต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับจนถึงหัวหน้าส่วนราชการ พิจารณาอนุญาตให้ลาได้ไม่เกิน 2 ปี และในกรณีจำเป็นอาจอนุญาตให้ลาได้อีก 2 ปี แต่เมื่อรวมแล้วต้องไม่เกิน 4 ปี ถ้าเกิน 4 ปี ให้ลาออกจากราชการ

11. การลาไปฟื้นฟูสมรรถภาพด้านอาชีพ

ข้าราชผู้ใดได้รับอันตรายหรือการป่วยแจ้งเพราะเหตุปฏิบัติราชการในหน้าที่ หรือถูกประทุษราย เพราะกระทำในหน้าที่จนทำให้ตกเป็นผู้ทุพพลภาพหรือพิการ หากข้าราชการผู้นั้นประสงค์จะลาไปเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับการฟื้นฟูสมรรถภาพที่จะเป็นต่อการปฏิบัติราชการหรือประกอบอาชีพมีสิทธิลาไปฟื้นฟูสมรรถภาพด้านอาชีพครั้งหนึ่งได้ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในหลักสูตรที่ประสงค์จะลา แต่ไม่เกิน 12 เดือน

หลักสูตรจะต้องเป็นหลักสูตรที่ส่วนราชการ หน่วยงานอื่นของรัฐ องค์กรการกุศลอันเป็นสาธารณะหรือสถาบันที่ได้รับการรับรองหน่วยงานของทางราชการเป็นผู้จัดหรือร่วมจัด

*** การลาของข้าราชการการเมือง***

การลาของนายกรัฐมนตรีและการไปต่างประเทศของนายกรัฐมนตรี ให้อยู่ในดุลยพินิจของ นายกรัฐมนตรี และแจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบ

การลาทุกประเภทและการไปต่างประเทศของข้าราชการการเมืองให้เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี

เป็นไงบ้างครับพอจะเข้าใจบ้างหรือเปล่าน๊า...แต่ก็พยายามสรุปให้อ่านๆแล้วนะ เดี๋ยวช่วงหน้าจะมีอะไรมาฝากรอติดตามตอนต่อไปนะครับ วันนี้....สบายดี....

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น