วันจันทร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การบริหารจัดการหลักสูตร

สวัสดีครับ วันนี้พบกันอีกครั้งกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ซึ่งวันนี้ได้สรุปเกี่ยวกับแนวทางการ บริหารจัดการหลักสูตร ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ซึ่งแน่นอนเลยทีเดียวว่าข้อสอบชอบออกมากๆเลย ไม่ว่าจะสอบครูหรือผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งผมจะสรุปเฉพาะที่สำคัญและน่าจะออกข้อสอบนะครับ เอาล่ะ//เริ่มเลยละกัน
แนวทางการบริหารจัดการหลักสูตร ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551
กระทรวงศึกษาธิการ ได้มีคำสั่งให้ใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ในโรงเรียนต้นแบบและโรงเรียนที่มีความพร้อมในการใช้หลักสูตร ในปีการศึกษา 2552 และใช้ในโรงเรียนทั่วประเทศในปีการศึกษา 2553 หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรที่ใช้แนวคิดหลักสูตรอิงมาตรฐาน(Standard –based Curriculum ) กล่าวคือเป็นหลักสูตรที่กำหนดมาตรฐานการเรียนรู้เป็นเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน โดยมาตรฐานการเรียนรู้ได้ระบุสิ่งที่ผู้เรียนพึงรู้และปฏิบัติได้ เมื่อสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการจัดการศึกษา ได้ยึดเป็นแนวทางในการดำเนินการพัฒนาและส่งเสริมให้ผู้เรียนได้บรรลุคุณภาพตามมาตรฐานการเรียนรู้ดังกล่าวด้วยการดำเนินการบริหารจัดการอิงมาตรฐาน การวัดและประเมินผลที่สะท้อนมาตรฐานเพื่อให้กระบวนการนำหลักสูตรไปสู่การปฏิบัติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ลักษณะสำคัญของหลักสูตรอิงมาตรฐาน
1. มาตรฐานเป็นจุดเน้นของการพัฒนาหลักสูตรในทุกระดับ
2. องค์ประกอบของหลักสูตรเชื่อมโยงกับมาตรฐาน
3. หน่วยการเรียนรู้คือหัวใจของหลักสูตร
4. กระบวนการและขั้นตอนการจัดทำหลักสูตรมีความยืดหยุ่น
5. การประเมินผลสะท้อนมาตรฐานอย่างชัดเจน
5.1 การประเมินระดับชั้นเรียน
5.2 การประเมินระดับสถานศึกษา
5.3 การประเมินระดับเขตพื้นที่การศึกษา
5.4 การประเมินระดับชาติ เป็นการประเมินคุณภาพผู้เรียนเพื่อตรวจสอบ ควบคุมคุณภาพการศึกษาให้เป็นไปตามมาตรฐานการเรียนรู้ของหลักสูตรแกนกลางฯโดยมีการประเมินในระดับชั้นสำคัญได้แก่ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ประถมศึกษาปีที่ 6 มัธยมศึกษาปีที่ 3และมัธยมศึกษาปีที่ 6
การบริหารจัดการหลักสูตรระดับชาติ
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นหน่วยงานส่วนกลางที่มีภารกิจสำคัญในการกำหนดนโยบายพัฒนามาตรฐานการเรียนรู้และหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานของชาติ ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งได้ระบุไว้ในมาตรา 27 ให้คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กำหนดหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน......
หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ ดังนี้
1. หลักสูตรแกนกลาง ได้แก่ วิสัยทัศน์ หลักการ จุดหมาย สมรรถนะสำคัญของผู้เรียน คุณลักษณะอันพึงประสงค์ มาตรฐานการเรียนรู้ และตัวชี้วัด สาระการเรียนรู้แกนกลาง โครงสร้างเวลาเรียนพื้นฐาน และเกณฑ์การวัดประเมินผลกลาง
2. ส่วนที่เกี่ยวข้องกับสภาพชุมชนและท้องถิ่น จัดทำโดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบระดับท้องถิ่น ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องกำหนดมาตรฐานการเรียนรู้เพิ่มเติมในระดับท้องถิ่น
3. ส่วนที่สถานศึกษาพัฒนาเพิ่มเติม เพื่อให้สอดคล้องเหมาะสมกับจุดเน้นของสถานศึกษาความสนใจ ความต้องการและความถนัดของผู้เรียน หรือเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนในระดับสูง ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องกำหนดมาตรฐานการเรียนรู้เพิ่มเติม

หลักสูตรสถานศึกษา ประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญ ดังนี้
1. ส่วนนำ ได้แก่ วิสัยทัศน์ สมรรถนะสำคัญของผู้เรียน และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักสูตรแกนกลางฯ
2. โครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา เป็นส่วนให้ข้อมูลเกี่ยวกับการกำหนดรายวิชาที่จัดสอนในแต่ละปี/ภาคเรียน ซึ่งประกอบด้วยรายวิชาพื้นฐาน รายวิชาเพิ่มเติม กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน พร้อมทั้งจำนวนเวลาเรียนหรือหน่วยกิตของรายวิชาเหล่านั้น
3. คำอธิบายรายวิชา
4. กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ประกอบด้วยกิจกรรม 3 ลักษณะได้แก่ กิจกรรมแนะแนว กิจกรรมนักเรียน และกิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์
5. เกณฑ์การจบการศึกษา

สมรรถนะสำคัญของผู้เรียน มี 5 ประการ ได้แก่
1. ความสามารถในการสื่อสาร
2. ความสามารถในการคิด
3. ความสามารถในการแก้ปัญหา
4. ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต
5. ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี
คุณลักษณะอันพึงประสงค์ มี 8 ประการ ได้แก่
1. รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์
2. ซื่อสัตย์สุจริต
3. มีวินัย
4. ใฝ่เรียนรู้
5. อยู่อย่างพอเพียง
6. มุ่งมั่นในการทำงาน
7. รักความเป็นไทย
8. มีจิตสาธารณะ
โครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา
ประเภทรายวิชา
รายวิชาพื้นฐาน เป็นรายวิชาที่เปิดสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนตามมาตรฐานการเรียนรู้ ซึ่งผู้เรียนทุกคนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานต้องเรียนรู้
ระดับประถมศึกษา สถานศึกษาสามารถปรับเวลาเรียนพื้นฐานของแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ ได้ตามความเหมาะสมกับจุดเน้นของสถานศึกษา ทั้งนี้ เมื่อรวมเวลาเรียนของรายวิชาพื้นฐานทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้แล้วต้องมีเวลาเรียนรวม 840 ชั่วโมงต่อปี
รายวิชาเพิ่มเติม เป็นรายวิชาที่สถานศึกษาแต่ละแห่งสามารถเปิดสอนเพิ่มเติมจากสิ่งที่กำหนดไว้ในหลักสูตรแกนกลาง
ระดับประถมศึกษา สถานศึกษาสามารถกำหนดรายวิชาเพิ่มเติมตามความต้องการ เมื่อรวมเวลาเรียนรายวิชาพื้นฐานและรายวิชาเพิ่มเติมแล้วไม่เกิน 1,000 ชั่วโมงต่อปี
ระดับมัธยมศึกษา สถานศึกษาสามารถกำหนดรายวิชาเพิ่มเติมตามความต้องการ เมื่อรวมเวลาเรียนรายวิชาพื้นฐานและรายวิชาเพิ่มเติมแล้วไม่เกิน 1,200 ชั่วโมงต่อปี

กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะคือ
1. กิจกรรมแนะแนว
2. กิจกรรมนักเรียน
3. กิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์
กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ได้มีการจัดเวลาเรียนให้มีความเหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษาแต่ละแห่งโดยหลักสูตรแกนกลางได้กำหนดไว้ดังนี้
กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน (กิจกรรมแนะแนว และกิจกรรมนักเรียน)
ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปีละ 120 ชั่วโมง
ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 360 ชั่วโมง
กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน(กิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์)
ระดับประถมศึกษา รวม 6 ปี จำนวน 60 ชั่วโมง
ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น รวม 3 ปี จำนวน 45 ชั่วโมง
ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย รวม 3 ปี จำนวน 60 ชั่วโมง

ผลการตัดสินผลการเรียนตามหลักสูตรแกนกลาง
ระดับประถมศึกษา
1. ผู้เรียนต้องมีเวลาเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของเวลาเรียนทั้งหมด
2. ผู้เรียนต้องได้รับการประเมินทุกตัวชี้วัดและผ่านตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด
3. ผู้เรียนต้องได้รับการตัดสินผลการเรียนทุกรายวิชา
4. ผู้เรียนต้องได้รับการประเมินและมีผลการประเมินตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนดในการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียน คุณลักษณะอันพึงประสงค์ และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
ระดับมัธยมศึกษา
1. ตัดสินผลการเรียนเป็นรายวิชา ผู้เรียนต้องมีเวลาเรียนตลอดภาคเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของเวลาเรียนทั้งหมดในรายวิชา
2. ผู้เรียนต้องได้รับการประเมินทุกตัวชี้วัดและผ่านเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด
3. ผู้เรียนต้องได้รับการตัดสินผลการเรียนทุกรายวิชา
4. ผู้เรียนต้องได้รับการประเมินและมีผลการประเมินตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนดในการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียน คุณลักษณะอันพึงประสงค์ และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
เป็นอย่างไรบ้างครับพอจะเข้าใจหรือสรุปเป็นแนวทางในการบริหารจัดการหลักสูตรได้หรือยัง ส่วนรายละเอียดอื่นๆเดียวจะสรุปมาให้นะขอรับ วันนี้คงพอแค่นี้ก่อน....หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคงได้รับความรู้บ้างไม่มากก็น้อยอย่าลืมอวยพรให้ผมบ้างนะ...........สุดท้ายขอฝากข้อคิดไว้หน่อยนะว่าเพราะมีผู้รู้เขาบอกมาว่า.... คนจนไม่จริง....คนจริงไม่จน....

วันพุธที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การบริหารจัดการที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล

วันนี้เรามาต่อจากคราวที่แล้วนะขอรับ หลังจากที่เราวิเคราะห์บริบทแล้วเราจะต้องเข้าใจหลักการบริหารจัดการที่ดีตามหลักธรรมาภิบาลนะครับ ซึ่งหลักธรรมาภิบาลนั้นมี อยู่ 6 หลักการได้แก่
1. หลักนิติธรรม หมายถึง หลักการที่มีความมุ่งหมายที่จะคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ปฏิบัติงานภายในองค์การ โดยมีกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับต่างๆที่เป็นธรรม มีการบังคับใช้กฎหมาย ข้อบังคับต่างๆอย่างเสมอภาค และไม่มีการเลือกปฏิบัติ ไม่มีมาตรการเชิงซ้อน (สองมาตรฐาน) มีการดูแลการปฏิบัติให้เป็นไปตามกรอบของกฎหมาย ไม่ให้มีการใช้กฎหมายไปแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ มีการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ข้อบังคับต่างๆให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยและเป็นธรรม เป็นที่ยอมรับของสังคม และคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพ ความยุติธรรมของบุคคลในองค์การ
2. หลักคุณธรรม หมายถึง การยึดมั่นในความถูกต้องดีงาม ทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา ปลอดจากการทำผิดวินัย ปลอดจากการทำผิดกฎหมาย ปลอดภัยจากการทำผิดมาตรฐานวิชาชีพ และส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ใต้บังคับบัญชาพัฒนาตนเองไปพร้อมกัน เพื่อให้มีความซื่อสัตย์ จริงใจ ขยัน อดทด มีระเบียบวินัย ประกอบอาชีพสุจริต
3. หลักความโปร่งใส หมายถึง การบริหารงานที่ยึดหลักการเปิดเผยตรงไปตรงมาและเข้าใจง่าย มีความชัดเจนเกี่ยวกับการบริหารงานในทุกๆด้านเช่น การมีระบบงานที่ชัดเจน มีระบบคุณธรรมในการเลือกหรือแต่งตั้งบุคลากร รวมถึงการให้คุณให้โทษ การเปิดโอกาสให้สังคมภายนอกเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและผลการดำเนินงานที่ผ่านมา โดยองค์ประกอบเครื่องชี้วัดความโปร่งใสมี 4 ด้าน ประกอบด้วย ความโปร่งใสด้านโครงสร้างระบบงาน ด้านระบบการให้คุณ ด้านระบบการให้โทษ และด้านการเปิดเผยระบบงาน
4. หลักการมีส่วนร่วม หมายถึง กระบวนการทีเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมในการรับรู้ การบริหารเกี่ยวกับการตัดสินใจในเรื่องต่างๆโดยการให้ข้อมูล แสดงความคิดเห็น ให้คำปรึกษาร่วมวางแผน ร่วมการปฏิบัติ รวมทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ประกอบได้ด้วยการแบ่งสรรข้อมูลร่วมกัน การเปิดรับความคิดเห็นจากประชาชน การวางแผนร่วมกันและการพัฒนาศักยภาพของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆให้สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้
5. หลักความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้ หมายถึง หลักการเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบซึ่งสะท้อนความรับผิดชอบต่อสาธารณะ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เป็นการแสดงถึงความรับผิดชอบในการตัดสินใจ ความรับผิดชอบในผลงานหรือปฏิบัติหน้าที่ให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสาธารณะและมีระบบติดตามประเมินผล
6. หลักความคุ้มค่า หรือหลักประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผล หมายถึง การบริหารจัดการที่คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดแก่ส่วนรวมในการบริหารจัดการและการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดและยั่งยืนรวมทั้งมีการป้องกันรักษาสิ่งแวดล้อมและมีความสามารถในการแข่งขันกับภายนอก
สรุปแล้วหลักการจำ 6 หลักก็คือ นิติ คุณ ใส ร่วม รับ คุ้ม เป็นอย่างไรบ้างครับพอจะรู้หลักการทั้งหกแล้วนะครับ หวังว่าจะนำไปใช้ในการสอบ หรือตอบคำถามต่างๆได้เป็นอย่างดีนะ สำหรับวันนี้ก่อนจบก็ขอฝากข้อคิดเอาไว้หน่อยนะขอรับ เขาบอกว่าโลกมีไว้เหยียบ ไม่ใช่มีไว้แบก .......เดี๋ยวคราวหน้าพบกันใหม่ขอรับ

การวิเคราะห์บริบททางการศึกษา

สวัสดีครับขอต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ครูสุโขทัย ห่างหายไปเกือบปีแล้วซินะ เนื่องจากภาระกิจมากมายเสียเหลือเกิน เอาละมาเริ่มต้นกันใหม่ก็แล้วกันเนอะ วันนี้เรามาเริ่มต้นการบริหารสถานศึกษาแบบจริงๆจังกันเลย โดยเริ่มต้นจาการวิเคราะห์บริบทก่อนก็แล้วกัน
การวิเคราะห์บริบท: ความท้าทายของการบริหารการศึกษาในอนาคต
บริบททางการศึกษา มี 2 ประเภท คือ
1) บริบทที่เป็นความสัมพันธ์ภายในระบบการศึกษา หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นพื้นฐานทางการศึกษา ได้แก่ ครู ผู้อำนวยการสถานศึกษา อาคารเรียน งบประมาณ อุปกรณ์การศึกษา เป็นต้น
2) บริบทที่เป็นผลกระทบจากภายนอก ได้แก่ สังคม วัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม ประชากรศาสตร์ ความมั่นคงของชาติ เป็นต้น

การวินิจฉัยองค์การคือกระบวนการการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับองค์การ เพื่อทำความเข้าใจสภาพองค์การในปัจจุบันว่ามีความแตกต่างจากสภาพองค์การที่ต้องการจะเป็นในอนาคตอย่างไร ดังนั้นในการวินิจฉัยองค์การจำเป็นจะต้องมีเครื่องมือในการวินิจฉัย ซึ่งมีมากมายแต่ที่นิยมสูงสุดในการนำมาใช้คือ SWOT Analysis การวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง ซึ่งมาจากคำย่อของ 4 คำ ได้แก่
S- Strengths หรือจุดแข็ง
W- Weaknesses หรือจุดอ่อน
O- Opportunities หรือโอกาส
T- Treats หรือภาวะคุกคาม (อุปสรรค)
ซึ่งในการทำ SWOT Analysis ให้มีประสิทธิภาพ จำเป็นจะต้องมีการวิเคราะห์ภายนอกและภายในดังนี้
การวิเคราะห์บริบทภายนอกด้วย C-PEST
C-Customer ,Competitors ลูกค้าหรือผู้รับบริการ เป็นอย่างไรซึ่งในที่นี้หมายถึง นักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชนที่อยู่โดยรอบสถานศึกษา
P-Politics สถานการณ์ทางการเมือง นโยบายต่างๆของกระทรวงศึกษาธิการ สพฐ. เช่น พรบ. กฏระเบียบต่างๆ
E- Economics, Environment สภาพแวดล้อมหรือสภาพเศรษฐกิจ ของชุมชนที่อยู่โดยรอบสถานศึกษา
S- Society สภาพสังคม วัฒนธรรม ค่านิยม ของประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรองสถานศึกษา
T- Technology เทคโนโลยี ระบบสารสนเทศ เทคโนโลยีทางการศึกษา การศึกษาใหม่ๆทีเกิดขึ้น
การวิเคราะห์บริบทภายในด้วย 7Ss
S- Strategy ยุทธศาสตร์ ทิศทางและขอบเขตที่องค์การจะดำเนินไปในระยะยาวนั้นเป็นอย่างไร
S- Structure โครงสร้างองค์การ มีการแบ่งงาน หน้าที่ความรับผิดชอบอย่างไร
S- System ระบบงานที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการในการดำเนินงานขององค์การนั้นเป็นอย่างไร เช่นระบบการเงิน ระบบพัสดุ ระบบการติดตาม เป็นต้น
S- Skill ทักษะ ความสามารถหรือปัจจุบันในระบบราชการใช้คำว่าสมรรถนะของบุคลากรในองค์กรเป็นอย่างไร
S- Shared values ค่านิยมร่วม หมายถึงสิ่งบุคลากรส่วนใหญ่ในองค์การเห็นว่าเป็นสิ่งดี พึงปฏิบัติจนกลายเป็นวัฒนธรรมในการทำงานทำให้เกิดปทัสถาน ขององค์การ
S- Staff บุคลากรในองค์กรเป็นอย่างไร มีจำนวนเพียงพอและเหมาะสมกับความต้องการหรือไม่ และมีบุคลากรที่จะตอบสนองการเติบโตขององค์การในอนาคตหรือไม่
S- Style รูปแบบการบริหารจัดการองค์การของผู้บริหารเป็นอย่างไร ภาวะผู้นำของผู้บริหาร

เป็นอย่างไรบ้างครับ หวังว่าคงเข้าใจนะครับเพราะว่าสรุปเฉพาะสิ่งที่จะเป็นและนำไปอ่านสอบนะขอรับจำให้ได้ก็แล้วกันส่วนรายละเอียดผมว่าทุกคนคงเข้าใจกันดีอยู่แล้วละนะ เดี๋ยวคราวหน้าเรามาศึกษาการบริหารจัดการที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล ก้อแล้วกันนะครับ ส่วนวันนี้ขอฝากข้อคิดไว้ว่า ปัญหามีไว้ให้แก้ ไม่ใช่มีไว้เพื่อปวดหัวนะครับ เพราะฉะนั้นทุกปัญหามีทางแก้ แต่ถ้าแก้ไม่ได้เขาไม่เรียกว่าปัญหาครับ.........