สวัสดีครับ วันนี้พบกันอีกครั้งกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ซึ่งวันนี้ได้สรุปเกี่ยวกับแนวทางการ บริหารจัดการหลักสูตร ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ซึ่งแน่นอนเลยทีเดียวว่าข้อสอบชอบออกมากๆเลย ไม่ว่าจะสอบครูหรือผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งผมจะสรุปเฉพาะที่สำคัญและน่าจะออกข้อสอบนะครับ เอาล่ะ//เริ่มเลยละกัน
แนวทางการบริหารจัดการหลักสูตร ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551
กระทรวงศึกษาธิการ ได้มีคำสั่งให้ใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ในโรงเรียนต้นแบบและโรงเรียนที่มีความพร้อมในการใช้หลักสูตร ในปีการศึกษา 2552 และใช้ในโรงเรียนทั่วประเทศในปีการศึกษา 2553 หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรที่ใช้แนวคิดหลักสูตรอิงมาตรฐาน(Standard –based Curriculum ) กล่าวคือเป็นหลักสูตรที่กำหนดมาตรฐานการเรียนรู้เป็นเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน โดยมาตรฐานการเรียนรู้ได้ระบุสิ่งที่ผู้เรียนพึงรู้และปฏิบัติได้ เมื่อสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการจัดการศึกษา ได้ยึดเป็นแนวทางในการดำเนินการพัฒนาและส่งเสริมให้ผู้เรียนได้บรรลุคุณภาพตามมาตรฐานการเรียนรู้ดังกล่าวด้วยการดำเนินการบริหารจัดการอิงมาตรฐาน การวัดและประเมินผลที่สะท้อนมาตรฐานเพื่อให้กระบวนการนำหลักสูตรไปสู่การปฏิบัติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ลักษณะสำคัญของหลักสูตรอิงมาตรฐาน
1. มาตรฐานเป็นจุดเน้นของการพัฒนาหลักสูตรในทุกระดับ
2. องค์ประกอบของหลักสูตรเชื่อมโยงกับมาตรฐาน
3. หน่วยการเรียนรู้คือหัวใจของหลักสูตร
4. กระบวนการและขั้นตอนการจัดทำหลักสูตรมีความยืดหยุ่น
5. การประเมินผลสะท้อนมาตรฐานอย่างชัดเจน
5.1 การประเมินระดับชั้นเรียน
5.2 การประเมินระดับสถานศึกษา
5.3 การประเมินระดับเขตพื้นที่การศึกษา
5.4 การประเมินระดับชาติ เป็นการประเมินคุณภาพผู้เรียนเพื่อตรวจสอบ ควบคุมคุณภาพการศึกษาให้เป็นไปตามมาตรฐานการเรียนรู้ของหลักสูตรแกนกลางฯโดยมีการประเมินในระดับชั้นสำคัญได้แก่ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ประถมศึกษาปีที่ 6 มัธยมศึกษาปีที่ 3และมัธยมศึกษาปีที่ 6
การบริหารจัดการหลักสูตรระดับชาติ
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นหน่วยงานส่วนกลางที่มีภารกิจสำคัญในการกำหนดนโยบายพัฒนามาตรฐานการเรียนรู้และหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานของชาติ ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งได้ระบุไว้ในมาตรา 27 ให้คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กำหนดหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน......
หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ ดังนี้
1. หลักสูตรแกนกลาง ได้แก่ วิสัยทัศน์ หลักการ จุดหมาย สมรรถนะสำคัญของผู้เรียน คุณลักษณะอันพึงประสงค์ มาตรฐานการเรียนรู้ และตัวชี้วัด สาระการเรียนรู้แกนกลาง โครงสร้างเวลาเรียนพื้นฐาน และเกณฑ์การวัดประเมินผลกลาง
2. ส่วนที่เกี่ยวข้องกับสภาพชุมชนและท้องถิ่น จัดทำโดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบระดับท้องถิ่น ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องกำหนดมาตรฐานการเรียนรู้เพิ่มเติมในระดับท้องถิ่น
3. ส่วนที่สถานศึกษาพัฒนาเพิ่มเติม เพื่อให้สอดคล้องเหมาะสมกับจุดเน้นของสถานศึกษาความสนใจ ความต้องการและความถนัดของผู้เรียน หรือเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนในระดับสูง ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องกำหนดมาตรฐานการเรียนรู้เพิ่มเติม
หลักสูตรสถานศึกษา ประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญ ดังนี้
1. ส่วนนำ ได้แก่ วิสัยทัศน์ สมรรถนะสำคัญของผู้เรียน และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักสูตรแกนกลางฯ
2. โครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา เป็นส่วนให้ข้อมูลเกี่ยวกับการกำหนดรายวิชาที่จัดสอนในแต่ละปี/ภาคเรียน ซึ่งประกอบด้วยรายวิชาพื้นฐาน รายวิชาเพิ่มเติม กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน พร้อมทั้งจำนวนเวลาเรียนหรือหน่วยกิตของรายวิชาเหล่านั้น
3. คำอธิบายรายวิชา
4. กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ประกอบด้วยกิจกรรม 3 ลักษณะได้แก่ กิจกรรมแนะแนว กิจกรรมนักเรียน และกิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์
5. เกณฑ์การจบการศึกษา
สมรรถนะสำคัญของผู้เรียน มี 5 ประการ ได้แก่
1. ความสามารถในการสื่อสาร
2. ความสามารถในการคิด
3. ความสามารถในการแก้ปัญหา
4. ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต
5. ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี
คุณลักษณะอันพึงประสงค์ มี 8 ประการ ได้แก่
1. รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์
2. ซื่อสัตย์สุจริต
3. มีวินัย
4. ใฝ่เรียนรู้
5. อยู่อย่างพอเพียง
6. มุ่งมั่นในการทำงาน
7. รักความเป็นไทย
8. มีจิตสาธารณะ
โครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา
ประเภทรายวิชา
รายวิชาพื้นฐาน เป็นรายวิชาที่เปิดสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนตามมาตรฐานการเรียนรู้ ซึ่งผู้เรียนทุกคนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานต้องเรียนรู้
ระดับประถมศึกษา สถานศึกษาสามารถปรับเวลาเรียนพื้นฐานของแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ ได้ตามความเหมาะสมกับจุดเน้นของสถานศึกษา ทั้งนี้ เมื่อรวมเวลาเรียนของรายวิชาพื้นฐานทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้แล้วต้องมีเวลาเรียนรวม 840 ชั่วโมงต่อปี
รายวิชาเพิ่มเติม เป็นรายวิชาที่สถานศึกษาแต่ละแห่งสามารถเปิดสอนเพิ่มเติมจากสิ่งที่กำหนดไว้ในหลักสูตรแกนกลาง
ระดับประถมศึกษา สถานศึกษาสามารถกำหนดรายวิชาเพิ่มเติมตามความต้องการ เมื่อรวมเวลาเรียนรายวิชาพื้นฐานและรายวิชาเพิ่มเติมแล้วไม่เกิน 1,000 ชั่วโมงต่อปี
ระดับมัธยมศึกษา สถานศึกษาสามารถกำหนดรายวิชาเพิ่มเติมตามความต้องการ เมื่อรวมเวลาเรียนรายวิชาพื้นฐานและรายวิชาเพิ่มเติมแล้วไม่เกิน 1,200 ชั่วโมงต่อปี
กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะคือ
1. กิจกรรมแนะแนว
2. กิจกรรมนักเรียน
3. กิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์
กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ได้มีการจัดเวลาเรียนให้มีความเหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษาแต่ละแห่งโดยหลักสูตรแกนกลางได้กำหนดไว้ดังนี้
กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน (กิจกรรมแนะแนว และกิจกรรมนักเรียน)
ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปีละ 120 ชั่วโมง
ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 360 ชั่วโมง
กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน(กิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์)
ระดับประถมศึกษา รวม 6 ปี จำนวน 60 ชั่วโมง
ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น รวม 3 ปี จำนวน 45 ชั่วโมง
ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย รวม 3 ปี จำนวน 60 ชั่วโมง
ผลการตัดสินผลการเรียนตามหลักสูตรแกนกลาง
ระดับประถมศึกษา
1. ผู้เรียนต้องมีเวลาเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของเวลาเรียนทั้งหมด
2. ผู้เรียนต้องได้รับการประเมินทุกตัวชี้วัดและผ่านตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด
3. ผู้เรียนต้องได้รับการตัดสินผลการเรียนทุกรายวิชา
4. ผู้เรียนต้องได้รับการประเมินและมีผลการประเมินตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนดในการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียน คุณลักษณะอันพึงประสงค์ และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
ระดับมัธยมศึกษา
1. ตัดสินผลการเรียนเป็นรายวิชา ผู้เรียนต้องมีเวลาเรียนตลอดภาคเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของเวลาเรียนทั้งหมดในรายวิชา
2. ผู้เรียนต้องได้รับการประเมินทุกตัวชี้วัดและผ่านเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด
3. ผู้เรียนต้องได้รับการตัดสินผลการเรียนทุกรายวิชา
4. ผู้เรียนต้องได้รับการประเมินและมีผลการประเมินตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนดในการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียน คุณลักษณะอันพึงประสงค์ และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
เป็นอย่างไรบ้างครับพอจะเข้าใจหรือสรุปเป็นแนวทางในการบริหารจัดการหลักสูตรได้หรือยัง ส่วนรายละเอียดอื่นๆเดียวจะสรุปมาให้นะขอรับ วันนี้คงพอแค่นี้ก่อน....หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคงได้รับความรู้บ้างไม่มากก็น้อยอย่าลืมอวยพรให้ผมบ้างนะ...........สุดท้ายขอฝากข้อคิดไว้หน่อยนะว่าเพราะมีผู้รู้เขาบอกมาว่า.... คนจนไม่จริง....คนจริงไม่จน....
วันจันทร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2553
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น