วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ( พ.ศ.2552 - 2561 )

มาแล้วครับ ครูสุโขทัย มาแล้ว ห่างหายหน้าจอไปนานเลย ได้รับความคิดเห็นจากเพื่อนๆมากเลย ขอบคุณจากใจ เอาละมีแรงมานำเสนอเพื่อน พ้อง น้องพี่ อีกแล้วครับ วันนี้ขอนำเสนอเกี่ยวกับข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษา

ข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ( พ.ศ.2552 - 2561 )
จากคำแถลงนโยบายของรัฐบาล ( นายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ) ที่แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2551 มุ่งเน้นให้มีการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ โดยการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอบ ( พ.ศ.2552-2561) รัฐบาลจะมุ่งเน้นให้คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ โดยมีเป้าหมายหลัก 3 ประการ คือ
1. พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาและเรียนรู้ของคนไทย
2. เพิ่มโอกาสทางการศึกษาและเรียนรู้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ
3. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของสังคมในการบริหารและจัดการศึกษา
หลักการและกรอบแนวคิด
เน้นการปฏิรูประบบการศึกษาและการเรียนรู้ และเสนอกลไกที่จะก่อให้เกิดผลต่อการพัฒนาการศึกษาและการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ ไม่ใช่ส่วนหนึ่งส่วนใดของระบบ และพิจารณาระบบการศึกษาและเรียนรู้ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบการพัฒนาประเทศ ซึ่งต้องเชื่อมโยงกับการพัฒนาระบบอื่น ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เกษตรกรรม สาธารณสุข การจ้างงานเป็นต้น
วิสัยทัศน์
คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ
เป้าหมายปี 2561
ภายในปี 2561 มีการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ โดยเน้นประเด็นหลัก 3 ประการคือ
1. พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาและเรียนรู้ของคนไทย
2. เพิ่มโอกาสทางการศึกษาและเรียนรู้
3. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของสังคมในการบริหารและจัดการศึกษา
ประเด็นหลักทั้ง สาม ประการนี้จะส่งผลให้คนไทยยุคใหม่ เป็นบุคคลดังนี้
- สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง รักการอ่าน และมีนิสัยใฝ่เรียนรู้ตลอดชีวิต
- มีความสามารถในการสื่อสาร สามารถคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหา คิดริเริ่มสร้างสรรค์
- มีจิตสาธารณะ มีระเบียบวินัย เห็นแก่ประโยชน์ส่วนร่วม สามารถทำงานเป็นกลุ่ม
- มีศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม จิตสำนึกและความภูมิใจในความเป็นไทย ยึดมั่นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รังเกียจการทุจริต และต่อต้านการซื้อสิทธิ์ขายเสียง และสามารถก้าวทันโลก
กรอบแนวทางการปฏิรูปการศึกษา
ปฏิรูปการศึกษาและเรียนรู้อย่างเป็นระบบ ดังนี้
1. พัฒนาคุณภาพคนไทยยุคใหม่
2. พัฒนาคุณภาพครูยุคใหม่
3. พัฒนาคุณภาพสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ยุคใหม่
4. พัฒนาการบริหารจัดการใหม่
พัฒนาคุณภาพคนไทยยุคใหม่
มีนิสัยใฝ่เรียนรู้ ตั้งแต่ปฐมวัย สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองและแสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต สามารถสื่อสาร คิด วิเคราะห์ แก้ปัญหา ริเริ่มสร้างสรรค์ มีจิตสาธารณะ มีระเบียบวินัย คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม ทำงานเป็นกลุ่มได้ มีศีลธรรม คุณธรรม ค่านิยม จิตสำนึกและภูมิใจในความเป็นไทย ก้าวทันโลก เป็นกำลังคนที่มีคุณภาพ มีทักษะความรู้พื้นฐานที่จำเป็น สมรรถนะ ความรู้ ความสามารถทำงานมีประสิทธิภาพ มีโอกาสเรียนรู้อย่างเท่าเทียมเสมอภาค
พัฒนาคุณภาพครูยุคใหม่
เป็นผู้เอื้ออำนวยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ เป็นวิชาชีพที่มีคุณค่า มีระบบ กระบวนการผลิต และพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา ที่มีคุณภาพมาตรฐานเหมาะสมกับการเป็นวิชาชีพชั้นสูง สามารถดึงดูดคนเก่งและดี มีใจรักมาเป็นครูอย่างต่อเนื่อง มีสภาพวิชาชีพที่เข้มแข็ง บริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี
พัฒนาคุณภาพสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ยุคใหม่
พัฒนาคุณภาพสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ทั้งในระบบ นอกระบบและแหล่งเรียนรู้ตามอัธยาศัยเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
พัฒนาการบริหารจัดการใหม่
มุ่งเน้นการกระจายอำนาจสู่สถานศึกษา เขตพื้นที่การศึกษา และอปท.รวมทั้งการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองชุมชน เอกชน และทุกภาคส่วน มีระบบการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล มีความโปร่งใส เป็นธรรมตรวจสอบได้ มีการนำระบบและวิธีการบริหารจัดการแนวใหม่ ควบคู่กับการสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง การบริหารจัดการการเงินและงบประมาณที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยให้ผู้เรียนเลือกรับบริการ
ข้อเสนอกลไกหลักเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา
1. ให้มีคณะกรรมการ 2 คณะเพื่อดำเนินทางนโยบายและขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา
1.1 คณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง
1.2 คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง
2. จัดตั้งและ/หรือปรับหน่วยงานเพื่อเป็นกลไกรับรองคุณภาพมาตรฐานและเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
2.1 สถาบันคุรุศึกษาแห่งชาติ เพื่อศึกษา ค้นคว้า วิจัยนวัตกรรมการผลิต พัฒนา ประกันและรับรอบคุณภาพครูและพัฒนาระบบการศึกษาและเรียนรู้
2.2 สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพแห่งชาติ
2.3 สถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาแห่งชาติและกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาและโทรทัศน์เพื่อการศึกษา
2.4 ปรับบทบาทสำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยเป็นสำนักงานการศึกษาตลอดชีวิต
3. มอบหมายให้หน่วยงานที่มีอยู่แล้วปฏิบัติภารกิจเพิ่มเติมหรือเร่งรัดดำเนินการ
3.1 ประกันการเรียนรู้และรับรองมาตรฐานผู้เรียน โดยประเมินผลผู้เรียนในชั้นเรียนสุดท้ายของแต่ละช่วงชั้น เป็นการวัดผลระดับชาติ
3.2 ขับเคลื่อนการกระจายอำนาจสู่เขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา โดยให้มีองค์คณะบุคคลที่มีความรู้ ความเข้าใจ และประสบการณ์
3.3 สนับสนุน ส่งเสริมการศึกษาทางเลือก โดยให้มีองค์คณะบุคคลดำเนินการ สอดคล้องกับ พรบ.การศึกษาแห่งชาติ และนโยบายรัฐบาล
ข้อเสนอกลไกสนับสนุน ที่ต้องพัฒนา/ปรับปรุง
1. การพัฒนาระบบการเงิน การคลัง
2. การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา
3. การปรับปรุงแก้ไข บังคับใช้กฎหมายการศึกษาและที่เกี่ยวข้อง
ข้อเสนอเร่งด่วนภายใน 3 เดือน
1. ให้แต่งตั้งคณะกรรมการ 2 คณะ เพื่อดำเนินการทางนโยบายและขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา ได้แก่ 1. คณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง จัดตั้งโดยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นรองประธาน เลขาธิการสภาการศึกษาเป็นกรรมการและเลขานุการ 2) คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง
มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน เลขาธิการการศึกษาเป็นกรรมการและเลขานุการ
2. เร่งกระบวนการทางกฎหมาย เพื่อให้มีการจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาแห่งชาติและกองทุนเทคโนโลยีแห่งชาติโดยเร็ว
3. เร่งผลักดันให้มีหน่วยงาน/กลไกเกี่ยวกับการรับรองคุณภาพมาตรฐาน ได้แก่ สถาบันคุรุศึกษาแห่งชาติ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพแห่งชาติ
4. เร่งทบทวนระบบการบริหารโดยองค์คณะบุคคลโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการ และบุคลากรทางการศึกษา ให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล โปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้

วันนี้พอแค่นี้ก่อนเน๊อะ ส่วนกฏหมายต่างๆจะว่าคราวต่อไป โชคดีครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น