วันอาทิตย์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

การบริหารทั่วไป(ต่อ)

.............ไม่เจ๊อะ กันนาน คิดถึงจังเลย..............ครูสุโขทัยมาแล้วจ้า วันนี้จะสรุปเกี่ยวกับระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ นะขอรับ ที่ผ่านมาไม่รู้ว่าอ่านแล้วหรือยัง ถ้าอ่านแล้วจำได้หรือเปล่าน้า
ระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ.2517

การรักษาความปลอดภัย หมายถึง บรรดามาตรการที่กำหนดขึ้น ตลอดจนการดำเนินการทั้งหลายทั้งปวงเพื่อพิทักษ์และคุ้มครองป้องกัน สิ่งที่เป็นความลับของทางราชการ ข้าราชการส่วนราชการและทรัพย์สินของแผ่นดินให้พ้นจาก **การรั่วไหล
** การจารกรรม
**การก่อวินาศกรรม
**การบ่อนทำลาย
**และการทำอื่นใด ที่ผลกระทบกระเทือนหรือเป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติ
การจารกรรม หมายถึง การกระทำใดๆโดยทางลับเพื่อให้ล่วงรู้หรือได้ไป และหรือสิ่งที่เป็นความลับของทางราชการให้แก่ผู้ไม่มีอำนาจหน้าที่หรือผุ้ไม่มีความจำเป็นต้องทราบ
การก่อวินาศกรรม หมายถึง การกระทำใดๆเพื่อทำลาย ทำความเสียหายต่อทรัพย์สินหรือรบกวน ขัดขวาง หน่วงเหนี่ยวระบบการปฏิบัติงานใดๆรวมทั้งการประทุษร้ายต่อบุคคลซึ่งทำให้เกิดความปั่นป่วนทางการเมือง การทหาร การเศรษฐกิจ
การบ่อนทำลาย หมายถึง การกระทำใดๆที่มุ่งก่อให้เกิดความแตกแยก ความปั่นป่วน ความกระด้างกระเดื่อง อันจะนำไปสู่การก่อความไม่สงบหรืออ่อนแอภายในชาติ

สิ่งที่เป็นความลับของทางราชการ หมายถึง เอกสาร บริภัณฑ์ ยุทธภัณฑ์ ที่สงวนและสิ่งอื่นๆทั้งข่างสารที่เป็นความลับของทางราชการซึ่งส่งถึงกันด้วยคำพูด หรือวิธีอื่นๆ
เอกสาร หมายถึง ข่าวสารที่บันทึกไว้ในแบบใดๆ รวมทั้งสิ่งที่พิมพ์ เขียน วาด ระบาย สี แถบบันทึก ภาพถ่าย ฟิล์ม และอื่นๆ
บริภัณฑ์ หมายถึง เครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องกล สิ่งอุปกรณ์อื่นทำนองนี้
ยุทธภัณฑ์ หมายถึง สิ่งของทั้งหลายที่ใช้ประจำกาย หรือประจำหน่วยกำลัง หรืออาวุธของทางราชการเช่นทหาร ตำรวจ ได้แก่ เครื่องห่ม เครื่องใช้ พาหนะ อาวุธ และสิ่งอื่นๆทำนองนี้

หลักการรักษาความปลอดภัย
1. ยึดถือหลัก การจำกัดให้ทราบเท่าที่จำเป็น ห้ามผู้ไม่มีหน้าที่หรือได้รับคำสั่งหรือการมอบหมายที่ถูกต้องอ้างยศ ตำแหน่ง หรืออิทธิพลใดๆเพื่อเข้าถึงความลับของทางราชการเป็นอันขาด
2. ในการรักษาความปลอดภัยจะกำหนดมาตรการป้องกันแต่เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอควรกำหนดมาตรการอื่นควรควบคู่ไปด้วย
3. การรักษาความปลอดภัยที่ดีที่สุดนั้นต้องมีจุดอ่อนน้อยที่สุด
4. ต้องมีการสอดส่องดูแล และตรวจสอบมาตรการที่ไว้วางใจเป็นประจำ
5. มาตรการและวิธีการรักษาความปลอดภัยที่ดีจะต้องสอดคล้องและไม่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารต่อส่วนราชการ
6. เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยอย่างแท้จริง การวางแผนจะต้องประสานมาตรการรักษาความปลอดภัยต่างๆเข้าด้วยกัน

การรักษาความปลอดภัย แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ
1. การรักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับบุคคล
2. การรักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับเอกสาร
3. การรักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับสถานที่

มาตรการรักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับสถานที่
1. เครื่องกีดขวาง
· เครื่องกีดขวางตามธรรมชาติ
· เครื่องกีดขวางทีประดิษฐ์ขึ้น เช่นรั้วทึบ เครื่องกั้นถนน ลวด ลูกกรงเหล็ก
2. การให้แสงสว่าง
· ใช้แสงสว่างส่องตรง
· ใช้แสงสองกระจายรอบตัว
3. เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยสถานที่ ( เวร ยาม )
4. ควบคุมบุคคล
5. การควบคุมยานพาหนะ ( ทำการบันทึกการเข้าออก ตรวจค้น กำหนดที่จอด)
6. พื้นที่มีการรักษาความปลอดภัยได้แก่
· พื้นที่ควบคุม คือพื้นที่ที่อยู่ติดต่อหรือที่อยู่โดยรอบพื้นที่หวงห้าม
· พื้นที่หวงห้าม คือ พื้นที่ที่มีการพิทักษ์รักษาสิ่งที่เป็นความลับ ตลอดจนบุคคลสำคัญ ทรัพย์สินหรือวัสดุที่สำคัญของทางราชการ แบ่งออกเป็น
1. เขตหวงห้ามเฉพาะ
2. เขตหวงห้ามเด็ดขาด
เขตหวงห้ามเฉพาะ คือเขตพื้นที่ซึ่งมีสิ่งที่เป็นความลับตลอดจนบุคคลหรือสิ่งที่มีความสำคัญ ซึ่งจะต้องพิทักษ์รักษาและการเข้าไปในเขตพื้นที่นี้จะต้องได้รับอนุญาตตามชั้นความลับที่เหมาะสม เช่น ที่เก็บอาวุธ ที่เก็บเชื้อเพลิง ชุมสายโทรศัพท์
เขตหวงห้ามเด็ดขาด คือ เขตพื้นที่ซึ่งมีสิ่งที่เป็นความลับตลอดจนบุคคลหรือสิ่งที่มีความสำคัญยิ่ง ซึ่งต้องพิทักษ์รักษา เช่น ห้องปฏิบัติการลับต่างๆ

รปภ.1 นำบันทึกทำประวัติบุคคล
รปภ.2 บันทึกประวัติบุคคล
รปภ.3 ใบรับรองความไว้วางใจ
รปภ.7 ใบคุมเอกสารลับที่สุดหรือลับมาก
รปภ.8 ลับที่สุด
รปภ.9 ลับมาก
รปภ.10 ลับ
รปภ.19 ทะเบียนเอกสารลับ

วันนี้พอแค่นี้ก่อนละกันนะเดี๋ยวจำไม่ได้ บาย.........

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น