การสื่อสาร และการจูงใจ
การสื่อสารเป็นกระบวนการติดต่อส่งผ่านข้อมูล ความคิด ความเข้าใจหรือความรู้สึกระหว่างบุคคล ซึ่งการสื่อสารจะมีองค์ประกอบ 4 ประการคือ
1. ผู้ส่งสาร ( Sender ) ได้แก่ ผู้ที่จะส่งข้อมูลข่าวสารแก่ผู้อื่น
2. ข้อมูลข่าวสาร ( Message ) คือสิ่งที่ต้องการให้ผู้อื่นรู้ ซึ่งอาจเป็นข้อมูล/ความเชื่อ ความเข้าใจ ความคิดหรือความรู้สึก
3. สื่อในช่องทางการสื่อสาร ( Communication channel ) คือช่องทางที่ใช้ในการติดต่อกันระหว่างผู้ส่งและผู้รับซึ่งช่องทางในการสื่อสารจะมีหลายช่องทางทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ
4. ผู้รับสาร ( Receiver ) ได้แก่ ผู้ที่รับรู้ข้อมูลข่าวสารหรือผู้ที่เราต้องการให้รู้ข้อมูล
กระบวนการสื่อสาร
ผู้ส่งสาร ( Sender ) สาร ( Message ) สื่อหรือช่องทาง ( Channel ) ผู้รับสาร( Receiver )
ประเภทของการสื่อสาร
1. จำแนกตามกระบวนการหรือการไหลของข่าวสาร จำแนกออกเป็น 2 ประเภท
1.1 การสื่อสารทางเดียว ( One-Way Communication ) คือ การสื่อสารที่ข่าวสารจะถูกส่งจากผู้ส่งไปยังผู้รับในทิศทางเดียว โดยไม่มีการตอบโต้กลับจากฝ่ายผู้รับ เช่น การสื่อสารผ่านสื่อ วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์
1.2 การสื่อสารสองทาง ( Two-Way Communication ) คือการสื่อสารที่มีการส่งข่าวสารตอบกลับไปมาระหว่างผู้สื่อสาร ดังนั้นผู้สื่อสารแต่ละฝ่ายจึงเป็นทั้งผู้ส่งและผู้รับในขณะเดียวกัน เช่น การพบปะพูดคุยกัน การพูดโทรศัพท์ เป็นต้น
2. จำแนกตามภาษาสัญลักษณ์ที่แสดงออก แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
2.1 การสื่อสารเชิงวัจนะ หมายถึง การสื่อสารด้วยการใช้ภาษาพูด หรือเขียนเป็นคำพูดในการสื่อสาร
2.2 การสื่อสารเชิงอวัจนะ หมายถึง การสื่อสารโดยใช้รหัสสัญญาณอื่น เช่น ภาษาท่าทาง การแสดงออกทางใบหน้า สายตา ตลอดจนถึงน้ำเสียง ระดับเสียง ความเร็วในการพูด
3. จำแนกตามจำนวนผู้สื่อสาร จำแนกออกเป็น 3 ลักษณะดังนี้
3.1 การสื่อสารส่วนบุคคล
3.2 การสื่อสารระหว่างบุคคล
3.3 การสื่อสารมวลชน
การสื่อสารมีวัตถุประสงค์สำคัญดังนี้
1. เพื่อแจ้งข้อมูลข่าวสาร
2. เพื่อแนะนำและสั่งการ
3. เพื่อชักจูง
4. เพื่อสอนงาน
5. เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีต่อกัน
6. เพื่อความสนุกสนานและสร้างบรรยากาศ
ช่องทางการติดต่อสื่อสาร
1. ช่องทางการสื่อสารที่เป็นทางการ
1.1 การสื่อสารจากบนลงล่าง เป็นการส่งผ่านข้อมูลข่าวสารจากผู้บริหารมายังผู้ปฏิบัติงาน หรือจากหัวหน้ามายังลูกน้อง ซึ่งการสื่อสารลักษณะนี้มักเป็นไปเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันและเพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานรับรู้และสามารถนำไปปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายขององค์การได้ การสื่อสารจากบนลงล่างสามารถใช้ช่องทางต่างๆได้ดังนี้
1) สายการบังคับบัญชา เช่นการสั่งการ ถ่านทอดคำสั่ง ชี้แจงนโยบาย
2) ป้ายประกาศ
3) จดหมายข่าว
4) จดหมายและใบแทรกในเงินเดือน
5) คู่มือปฏิบัติงานและจุลสาร
6) รายงานประจำปี
7) ระบบเสียงตามสาย
1.2 การสื่อสารจากล่างขึ้นบน เป็นการสื่อสารจากบุคลากรระดับปฏิบัติการถึงผู้บริหารองค์การ ซึ่งอาจเป็นรายงานข้อมูล เสนอความคิดเห็น ตลอดจนมีส่วนร่วมในการบริหารองค์การ วิธีนี้จะช่วยให้บุคลากรมีขวัญและกำลังใจในการทำงานอีกด้วย การสื่อสารจากล่างขึ้นบนนี้อาจใช้ช่องทางการสื่อสารดังนี้
1) นโยบายการเปิดกว้าง
2) ระบบการรับความคิดเห็น (กล่องรับฟังความคิดเห็น)
3) แบบสอบถาม
4) ระบบการอุทธรณ์/ร้องทุกข์
5) กรรมการรับข้อร้องเรียน
6) การประชุมพิเศษ เช่นการจัดสัมมนา ดูงาน แข่งกีฬา
การสื่อสารในองค์การที่ดีควรจะเป็นการสื่อสารแบบสองทาง ( Two- way communications ) ซึ่งผุ้ส่งสารและผู้รับสารได้โต้ตอบกัน
2. ช่องทางการสื่อสารที่ไม่เป็นทางการ
ระบบการสื่อสารแบบไม่เป็นทางการมักจะอาศัยความสัมพันธ์ระหว่างคนในองค์การเป็นตัวถ่ายทอดและส่งผ่านข้อมูลข่าวสาร ไม่มีรูปแบบตายตัวขึ้นกับสภาพของแต่ละองค์การหรือกลุ่มการส่งสารตามแบบนี้ ถึงแม้จะใช้เวลามากแต่ก็มีประสิทธิผลมากและมักจะเกิดขึ้นเสมอในองค์การ
ปัญหาในการติดต่อสื่อสาร
1. อุปสรรคด้านเทคนิค ได้แก่ สภาพแวดล้อมที่ทำให้การติดต่อสื่อสารผิดพลาดไปประกอบด้วย
1.1 ระยะเวลา เช่นการตักเตือนควรทำเมื่อบุคลากรกระทำผิดทันทีแต่หากปล่อยเวลาไปจะทำให้การตักเตือนไม่บรรลุผลสำเร็จได้
1.2 ข้อมูลมากเกินไป
1.3 ความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรม เช่นการส่ายหน้าคุยกันของคนอินเดีย คือการยอมรับซึ่งแตกต่างจากสังคมไทยที่การยอมรับคือการพยักหน้า
2. อุปสรรคด้านภาษา
3. อุปสรรคด้านจิตวิทยา
1.1 การกรองข้อมูล เช่น ข้อมูลข่าวสารต้องผ่านตัวกรองมากโอกาสที่จะผิดพลาดก็จะมากยิ่งขึ้น
1.2 การขาดความจริงใจและไม่เปิดเผย
1.3 ความอิจฉา
1.4 การครอบงำทางความคิด
1.5 ความคาดหวัง
1.6 การรับรู้ที่แตกต่างกัน
1.7 สิ่งรบกวน
การจูงใจ
การจูงใจ หมายถึง การนำเอาปัจจัยต่างๆมาเป็นแรงผลักดันให้บุคคลแสดงพฤติกรรมออกมาอย่างมีทิศทางเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายหรือเป้าหมายที่ต้องการ
กระบวนการจูงใจ มีองค์ประกอบ 3 ประการ คือ
1. ความต้องการ ( Needs ) คือ ภาวการณ์ขาดบางสิ่งบางอย่างอินทรีย์ อาจจะเป็นการขาดทางด้านร่างกายหรือการขาดทางด้านจิตใจก็ได้
2. แรงขับ ( Drive )
3. สิ่งล่อใจ ( Incentive หรือ เป้าหมาย ( Goal )
ทฤษฏีการจูงใจเบื้องต้น
1. ทฤษฏีของมาสโลว์ มี 5 ขั้น
1. ความต้องการทางร่างกาย
2. ความต้องการความมั่นคงและความปลอดภัย
3. ความต้องการทางสังคม
4. ความต้องการการยอมรับนับถือและเห็นว่าตนเองมีคุณค่าต่อสังคม
5. ความต้องการความสำเร็จ
2. ทฤษฏีสองปัจจัยของ Frederick Herzberg
1. ปัจจัยจูงใจ ปัจจัยนี้เป็นแรงกระตุ้นให้เกิดความพึงพอใจในการปฏิบัติงานหรือทำงานอย่างมีความสุข มีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน ปัจจัยนี้เกี่ยวข้องกับงาน ได้แก่
· ความสำเร็จในการทำงาน
· ความรับผิดชอบในงาน
· การได้รับการยกย่องในผลงาน
· ลักษณะของงานที่ทำ
· ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
2. องค์ประกอบค้ำจุน ปัจจัยนี้ไม่ใช่ปัจจัยที่จะทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น และไม่ใช่ปัจจัยจูงใจในการเพิ่มผลผลิต แต่เป็นปัจจัยเบื้องต้นเท่านั้น ถ้าองค์ประกอบใดไม่มีปัจจัยนี้จะก่อให้เกิดความไม่พอใจในการทำงานแต่ถ้าจัดให้มีปัจจัยนี้อย่างเพียงพอก็จะทำให้เกิดความพอใจเท่านั้น มิได้เป็นการจูงใจให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานไม่ ปัจจัยเหล่านี้ได้แก่ สภาพแวดล้อมในการทำงาน
· ค่าจ้างเงินเดือน
· สถานภาพในการทำงาน
· นโยบาย
· การควบคุมดูแล
· ความมั่นคงในงาน
· สภาพการทำงาน
· ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล
3. ทฤษฏีการจูงใจของแมคคิลล์แลนด์ ( McClelland” Motivation Theory ) มีบทบาทช่วยในการพัฒนาการจูงใจโดยแบ่งการจูงใจตามความต้องการขั้นพื้นฐานของบุคคลเป็น 3 แบบ ดังนี้
แบบที่ 1 ความต้องการอำนาจ
แบบที่ 2 ความต้องการความผูกพัน
แบบที่ 3 ความต้องการความสำเร็จ
4. ทฤษฏีของ Douglas McGregor กล่าวว่าการจูงใจนะเกิดขึ้นย่อมอยู่กับทัศนคติของผู้บริหาร หรือผู้นำที่จะมีต่อผู้ใต้บังคับบัญชาและ McGregor ยังได้ตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับคนออกเป็น 2 แบบ กล่าวคือ ทฤษฏี X และทฤษฏี Y โดยสามารถเปรียบเทียบได้ดังนี้
ทฤษฏี X
· มนุษย์โดยทั่วไปมักจะไม่ชอบทำงานและพยายามหลีกเลี่ยง
· มนุษย์ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยทะเยอทะยานขาดความรับผิดชอบ ชอบการบังคับ ลงโทษและการควบคุม
· มักต่อต้านการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
· เห็นแก่ตัว ไม่ฉลาด เฉื่อยชา
ทฤษฏี Y
· มนุษย์จะมีการทำงานตามธรรมชาติ ไม่หลีกเลี่ยงการทำงาน
· การควบคุมมิใช่วิธีเดียวที่จะทำให้งานบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์การ
· มนุษย์มีจิตสำนึกในการควบคุมตนเองได้
· มนุษย์มีความทะเยอทะยานใฝ่สำเร็จและพัฒนาตนเองได้
· มนุษย์มีความคิดริเริ่มในการแก้ไขปัญหาได้ และมีความเฉลียวฉลาด
ประโยชน์ของการจูงใจ
1. เกิดความมั่นใจและพอใจในงาน
2. พึงพอใจในตัวผู้บริหาร
3. การร้องทุกข์มีน้อยลง
4. การควบคุมขององค์การ ดำเนินไปด้วยความราบรื่น
5. เกิดความจงรักภักดี และความภาคภูมิใจ
6. เกิดความร่วมมือร่วมใจในการทำงาน
7. เกิดความศรัทธาในองค์การ และลดการลาออก
8. เกิดประสิทธิภาพใจการปฏิบัติงานสูง
การมีวิสัยทัศน์
วิสัยทัศน์ ( Vision ) เป็นคำที่นิยมใช้เพื่อสื่อความหมายในลักษณะเดียวกับคำว่าจินตภาพ ญาณทรรศน์ และทัศนภาพ
( Vision ) มีคำนิยามตามพจนานุกรมว่า พลังแห่งการมองเห็น จินตนาการ การมองไปข้างหน้า การเข้าใจความจริงบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง สิ่งที่มองเห็นด้วยตาของของ หรือพลังแห่งจินตนาการ
มีผู้ให้คำนิยามคำว่า วิสัยทัศน์ ( Vision ) แตกต่างกันออกไปหลายความหมายเช่น หมายถึง
การมองการณ์ไกล
การมองเห็นถึงขอบเขตลักษณะ
การมองเห็นแบบหยั่งรู้
การรู้จักมองไปข้างหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้น
เมื่อพิจารณาจากคำนิยามข้างต้น พอสรุปได้ว่า วิสัยทัศน์ ( Vision ) หมายถึง ศักยภาพของบุคคลในการหยั่งรู้สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เป็นการสร้างภาพอนาคตเพื่อกำหนดเป้าหมายการทำงาน โดยอาศัยข้อมูลข้อเท็จจริงหรือความรู้และพลังแห่งการจินตนาการ
องค์ประกอบของวิสัยทัศน์ 3 ประการ
1. ภารกิจ ( Mission ) คืองานที่หน่วยงาน องค์การ โรงเรียน วิทยาลัยหรือสถานศึกษารับผิดชอบอยู่เป็นหน้าที่หลักของสถานศึกษาแห่งนั้น ๆในแก่นสำคัญ ซึ่งก็คือวิสัยทัศน์ที่สถานศึกษาต้องการเป็นและต้องการให้มีขึ้น
2. สมรรถภาพที่เป็นจุดแข็งแกร่ง ( Capacity ) หรือเป็นจุดเด่นของสถานศึกษาที่ทำให้สถานศึกษาประสบความสำเร็จและมีข้อได้เปรียบในเชิงการแข่งขันหรือเชิงบริหาร ซึ่งก็หมายถึงสิ่งที่ทำให้สถานศึกษาทำได้ดีกว่าคนอื่น เป็นกิจกรรมหรือสมรรถนะเชิงการแข่งขันที่เหนือกว่า
3. ค่านิยม ( Value ) คือคุณค่า ความเชื่อ หรือปรัชญาของสถานศึกษา เป็นคุณค่าและความเชื่อกว้างๆว่าอะไรเป็นสิ่งที่ควรและไม่ควรปฏิบัติในการทำงาน ซึ่งจะถูกยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ ที่สอดคล้องกับพฤติกรรมการทำงาน
ระดับของวิสัยทัศน์
วิสัยทัศน์ นำไปใช้ใน 4 ระดับ คือ
1. ตนเองมองภาพอนาคต เกี่ยวกับ อาชีพการงาน เป็นการมองเพื่อตนเอง โดยการมองสภาพภายนอกรอบตัวหน้าที่การงาน หากมีอะไรเปลี่ยนแปลงจะปฏิบัติอย่างไร
2. ตนเองมองภาพอนาคตเกี่ยวกับตนเอง เป็นการมองภายใน มองสุขภาพร่างกายและจิตใจจะพัฒนาร่างกายและจิตใจอย่างไร เป็นการย้อนดีจิตใจ ความผิดหวัง ความสมหวัง ซึ่งมีผลกระทบต่อจิตใจและจะสามารถทำงานภายใต้ความเครียดอย่างไร จะแก้ปัญหาอย่างไร จะพัฒนาอย่างไร ภายใต้สภาวการณ์ที่เปลี่ยนไป
3. การมองภาพอนาคตเกี่ยวกับองค์การ เป็นการศึกษาระบบบริหารที่เหมาะสมกับองค์การเป็นการศึกษาให้รู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ที่มีผลกระทบต่อหน่วยงาน เช่นผลกระทบจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ผลกระทบที่เกิดจากสภาพแวดล้อมทางสังคมที่มีต่อหน่วยงาน บุคลากร ในองค์การในกรณีเช่นนี้จะบริหารงานอย่างไร
4. การมองภาพอนาคตเกี่ยวกับองค์การในระบบสังคมโลก ( Globalization ) เป็นการมองคู่แข่งจากประเทศต่างๆสินค้าที่ผลิตจากประเทศอื่น จะเป็นคู่แข่งจากบริษัทในประเทศใดก็ตาม ซึ่งถ้าผลิตสินค้าที่มีคุณภาพดีกว่า แต่ราคาถูกกว่า ก็จะได้เปรียบคู่แข่งอื่นๆเป็นต้น
วิสัยทัศน์ที่ดี ควรมีลักษณะ ดังนี้
1. สั้นๆ กระชับ ชัดเจน
2. เข้าใจง่ายโดยบุคคลทุกระดับ
3. มีความหมายครอบคลุมเนื้อหาที่ต้องการ ครบถ้วน
4. มีความหมายในเชิงท้าทาย
5. หรูเลิศ จับต้องได้ เป็นจริงได้ วัดผลได้
6. กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกคึกคัก กระตือรือร้น
7. ก่อให้เกิดความสมานสามัคคี
วันพุธที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2552
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ดีค่ะที่คุณเขียนได้ใจความ และขอบคุณที่ส่งข้อความมาเพื่อสร้างกำลังใจ
ตอบลบขอบคุณครับสำหรับสิ่งดี ๆ ที่ผ่านมา
ตอบลบจงทำดีต่อไป และยั้งยืน เพื่อชาติครับ