วันศุกร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2552

หลักการบริหาร

ครูสุโขทัย วันนี้ขอนำเสนอหลักการบริหารที่จำเป็นอย่างยิ่งในการนำไปใช้ในการบริหารสถานศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารจำเป็นที่จะต้องรู้หลักการบริหารนะครับ.........
หลักการบริหาร

การบริหาร ( Administration ) หมายถึงกิจกรรมต่างๆที่บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปร่วมมือกันดำเนินการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน ดังนั้นการบริหารจะต้องเกี่ยวข้องกับ
1. บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป
2. ร่วมมือกันทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง
3. เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน
ลักษณะสำคัญของการบริหาร
การบริหารมีลักษณะสำคัญดังต่อไปนี้
1. วัตถุประสงค์หรือจุดมุ่งหมาย
2. มีหลักเกณฑ์ในการดำเนินงาน
3. มุ่งสร้างผลงานให้เกิดขึ้น
4. ประกอบด้วยองค์ประกอบหลายๆด้านรวมกัน
5. ความสำคัญของงานอยู่ที่ความร่วมแรงร่วมใจของสมาชิกมิใช่ผู้บริหารแต่ฝ่ายเดียว
6. มีผลกระทบในวงกว้าง
7. มีการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผล ได้แก่ โทรทัศน์ วีดีโอ คอมพิวเตอร์ แฟกซ์ เป็นต้น
8. มีผู้นำกลุ่ม

Luther Gulick ได้กำหนดขั้นตอนหรือหลักการบริหารไว้ 7 ประการ เรียกว่า POSDCORB มีรายละเอียดดังนี้
1. การวางแผน ( Planning ) หมายถึง การจัดวางโครงการและแผนปฏิบัติรวมทั้งวิธีปฏิบัติงานไว้ล่วงหน้า เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของงาน
2. การจัดหน่วยงาน ( Organizing ) หมายถึง การกำหนดโครงสร้างอำนาจหน้าที่การแบ่งส่วนงานและการจัดสายงาน เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปตามวัตถุประสงค์
3. การจัดตัวบุคคล ( Staffing ) หมายถึง การบริหารงานด้านบุคคล ได้แก่ การจัดอัตรากำลัง การสรรหาและการพัฒนาบุคลากร รวมทั้งการเสริมสร้างบรรยากาศในการทำงานที่ดี
4. การอำนวยการ ( Directing ) หมายถึง การวินิจฉัยสั่งการ การควบคุมบังคับบัญชาและการควบคุมดูแลการปฏิบัติงานในฐานะที่ผู้บริหารเป็นหัวหน้าหน่วยงาน
5. การประสานงาน ( Co-ordinating ) หมายถึง การประสานกิจการด้านต่างๆของหน่วยงานเพื่อให้เกิดมีการร่วมมือประสานงานที่ดีและดำเนินไปสู่จุดหมายไปทางเดียวกัน
6. การรายงาน ( Reporting ) หมายถึง การรายงานผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานเพื่อให้ผู้บริหารและสมาชิกของหน่วยงานได้ทราบความเคลื่อนไหวและความคืบหน้าของกิจการอย่างสม่ำเสมอ
7. การงบประมาณ ( Budgeting ) หมายถึง การจัดทำงบประมาณ การจัดทำบัญชีการใช้จ่ายเงิน และการควบคุมตรวจสอบทางด้านการเงินและทรัพย์สิน


ทักษะในการบริหาร
การดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายขององค์การนั้น ผู้บริหารทุกคนต้องมีทักษะที่จำเป็น 3 ประการด้วยกัน คือ
1. ทักษะในด้านการปฏิบัติงาน ( Technical Skill ) บางครั้งเรียก “เก่งงาน” หมายถึง จะต้องมีความรู้ในเรื่องวิธีการปฏิบัติงาน การใช้เครื่องมือเฉพาะอย่างเป็นอย่างดีเป็นผู้มีความชำนาญในงานเฉพาะสาขาอาชีพ เช่น วิศวกร ศัลยแพทย์ นักดนตรี นักบัญชี นักคอมพิวเตอร์ ผู้บริหารระดับล่างจะต้องมีความรู้ในเรื่องนี้เป็นอย่างดี เพื่อที่จะเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำแก่ผู้ปฏิบัติได้
2. ทักษะในเรื่องคน ( Human Skill ) บางครั้งเรียก “เก่งคน” หมายถึง ความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างดี ถือเป็นผู้ที่มีมนุษยสัมพันธ์ มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องการจูงใจการสื่อสาร การประสานงาน ทั้งรายบุคคลและเป็นกลุ่ม ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความร่วมมือร่วมใจในการทำงาน ทักษะนี้มีความจำเป็นสำหรับผู้บริหารทั้ง 3 ระดับ
3. ทักษะในเรื่องความคิด ( Conceptual Skill ) บางครั้งเรียก “เก่งคิด” หมายถึง เป็นผู้ที่มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารองค์การ สามารถมององค์การในภาพส่วนรวม มีวิธีการตลอดจนแนวคิดในการที่จะพัฒนาให้องค์การไปในทิศทางที่กำหนด หรือสามารถที่จะแก้ไขปัญหาองค์การให้อยู่รอดเมื่อเกิดเหตุวิกฤติ อันเนื่องมาจากสภาพแวดล้อมทางด้านเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม อันจะทำให้องค์การบรรลุเป้าหมายสุดท้ายได้
ทักษะทั้ง 3 นี้ เป็นสิ่งที่จะต้องมีในตัวผู้บริหารทุกระดับ แต่จะมีมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับระดับตำแหน่งที่ดำรงอยู่ในองค์การนั้นๆ ทักษะแต่ละทักษะมีความสำคัญและจำเป็นสำหรับผู้บริหารแต่ละระดับไม่เท่ากัน เช่น ทักษะด้านการปฏิบัติงาน ( Technical Skill ) มีความจำเป็นมากสำหรับผู้บริหารระดับต้น และลดน้อยลงไปตามความสำคัญในผู้บริหารระดับกลางและระดับสูง ทักษะในเรื่องความคิด ( Conceptual Skill ) จำเป็นมากสำหรับผู้บริหารระดับสูง แต่จะลดความสำคัญลงในระดับกลางและระดับล่างตามสมควร สำหรับทักษะเรื่องคน ( Human Skill ) นั้นมีความจำเป็นเท่าๆกันสำหรับผู้บริหารทุกระดับ

ปัจจัยและข้อจำกัดในการบริหาร
ในการบริหารงานทุกประเภทจำเป็นจะต้องมีปัจจัยหรือทรัพยากรพื้นฐานทางการบริหารโดยทั่วไปถือว่าปัจจัยที่สำคัญของการบริหารมี 4 อย่าง หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ 4 M”s ได้แก่
1. คน ( Man )
2. เงิน ( Money )
3. วัสดุอุปกรณ์ ( Material )
4. การจัดการ ( Management )
5. การจัดการหรือวิธีการ ( Method )
6. ตลาด ( Market )
7. เวลา ( Minute )

การปกครองบังคับบัญชา
การปกครองบังคับบัญชา เป็นภารกิจที่ผู้บริหารต้องรับผิดชอบ กรอบแนวคิดที่สำคัญและมีความเกี่ยวข้องกับการปกครองบังคับบัญชา ประกอบด้วย
1. การปกครองบังคับบัญชา
2. ภาวะผู้นำ
3. การนิเทศงาน
4. การอำนวยการและการให้คำแนะนำปรึกษา

1. การปกครองบังคับบัญชา
การปกครอง หมายถึง การควบคุม ดูแล ตรวจตราผู้ร่วมงาน ( ผู้ใต้บังคับบัญชา ) ให้ปฏิบัติงานไปด้วยความเรียบร้อย ราบรื่น รวดเร็ว และอย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ มีความประพฤติดี สมัครสมาน สามัคคีและดูแลความทุกข์สุข ตลอดถึงการให้คุณให้โทษด้วย
การบังคับบัญชา หมายถึง การสั่งการ แนะนำ ให้ผู้ร่วมงาน ( ผู้ใต้บังคับบัญชา ) ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการ
ดังนั้นการปกครองบังคับบัญชา หมายถึง การควบคุม ตรวจตราบังคับบัญชาทั้งในด้านการปฏิบัติงาน ความประพฤติ การดูแลทุกข์สุข ตลอดจนการให้ความดีความชอบ การลงโทษ การบรรจุ แต่งตั้งให้ผู้ร่วมงานได้รับความชอบ ความเที่ยงธรรม

หลักการปกครองบังคับบัญชา
1. หลักความเป็นระเบียบเรียบร้อย
2. หลักความเสมอภาค
3. หลักความยุติธรรม
4. หลักความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว
5. ผู้ปกครองบังคับบัญชาต้องมีพรหมวิหาร 4
6. หลักการบำรุงขวัญ
7. หลักการใช้คนให้เหมาะสมกับงาน
8. หลักประชาธิปไตย
9. หลักในการครองตน ครองคน และครองงาน
10. หลักมนุษยสัมพันธ์

2. ภาวะผู้นำ ( Leadership )
ภาวะผู้นำ คือ การที่ผู้นำใช้อิทธิพล หรืออำนาจหน้าที่ในความสัมพันธ์ซึ่งมีอยู่ต่อผู้ใต้บังคับบัญชาในสถานการณ์ต่างๆ เพื่อปฏิบัติการและอำนวยการ โดยใช้กระบวนการติดต่อซึ่งกันและกัน เพื่อมุ่งให้บรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

ประเภทของผู้นำ มี 3 ประเภท คือ
1. ผู้นำแบบอัตตาธิปไตย ( Autocratic Leaders )
2. ผู้นำแบบประชาธิปไตย ( Democratic Leaders )
3. ผู้นำแบบตามสบาย/ผู้นำแบบเสรีนิยม ( Laissez - faire Leaders )

ลักษณะของผู้นำที่ดี
1. กล้ารับผิดชอบ
2. มีความสามารถและกล้าแสดงความคิดเห็น
3. ไม่เอารัดเอาเปรียบ
4. มีไหวพริบดี
5. มีความกระตือรือร้น
6. มีความสุขุมรอบคอบ
7. ไม่หูเบา มีเหตุผล
8. ไม่รับสินบน
9. เปิดใจให้กว้าง

3. การนิเทศงาน
การนิเทศงาน หมายถึง การควบคุม ตรวจตรา ดูแลการปฏิบัติงานตามแผนที่กำหนดไว้เพื่อให้ผู้บริหารสามารถแก้ไข ปรับปรุงวิธีการปฏิบัติงานให้ดำเนินการไปตามแผน หรือกำหนดวิธีการดำเนินงานให้เกิดผลดี มีประสิทธิภาพสูง และสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ โดยดูที่ปัจจัยกิจกรรมดำเนินงานและผลงานแต่ละส่วน
คุณสมบัติของผู้นิเทศงาน
1. มีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับงานที่ปฏิบัติ รอบรู้และเคยทำงานในหน่วยงานนั้นมาแล้ว
2. คุณสมบัติส่วนตัว
2.1 สนใจงานในหน้าที่และงานอื่นๆนอกหน้าที่
2.2 เป็นที่รักใคร่ชอบพอของผู้ร่วมงาน
2.3 เป็นบุคคลที่มีเหตุผล
3. ความสามารถทางมนุษย์สัมพันธ์
3.1 สามารถเข้าใจคน
3.2 รู้วิธีสร้างสัมพันธ์และทำงานร่วมกับผู้อื่น
3.3 เข้าใจหลักพฤติกรรมของมนุษย์
3.4 ปฏิบัติตนตามหลักการและแบบอย่างที่ดี
3.5 ประเมินตนเองและปรับปรุงตนเองอยู่เสมอ
4. มีความสามารถในการบริหารงานเพื่อให้งานนั้นมีประสิทธิภาพสูงสุดและก้าวหน้าอยู่เสมอ

4. การอำนวยการและการให้คำปรึกษาแนะนำการปฏิบัติงาน
การอำนวยการ หมายถึง การกำหนด สั่ง หรือชี้แนะงานให้ผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติงานเพื่อให้การดำเนินงานขององค์การ สามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้น เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว การอำนวยการจะหมายรวมถึง
1. การตัดสินใจหรือการวินิจฉัยสั่งการ
2. การสั่งงาน
3. การสอนหรือแนะนำและตรวจสอบดูแล
4. การจูงใจ
5. การเป็นผู้นำหรือภาวะผู้นำ
6. การใช้หลักมนุษยสัมพันธ์
7. การจัดระบบการติดต่อสื่อสาร
8. การมอบอำนาจหน้าที่

การให้คำแนะนำการปฏิบัติงาน หมายถึง การบอกกล่าวชี้แนะหรือการอบรมสั่งสอน โดยผู้ให้คำปรึกษาแนะนำ มีจุดมุ่งหมายที่จะให้ผู้ได้รับคำแนะแนะจดจำหรือประพฤติปฏิบัติตามคำแนะนำ หรือความคิดเห็นของตน การให้คำปรึกษาแนะนำจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้คำปรึกษาและผู้ขอคำปรึกษาได้เป็นอย่างดี
การให้คำปรึกษาแนะนำ จึงมีหลักการปฏิบัติ 3 ประการ หรือหลัก 3 ก คือ
1. กัน เป็นการให้คำปรึกษาแนะนำการปฏิบัติงานเพื่อป้องกันปัญหาต่างๆ
2. แก้ เป็นการให้คำปรึกษาแนะนำการปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นแล้ว
3. ก่อ เป็นการให้คำปรึกษาแนะนำเพื่อก่อให้เกิดการปฏิบัติงานที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

4 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ25 มกราคม 2553 เวลา 16:47

    น่าสนใจมากและเป็นประโยชฯืต่อผู้บริหารด้วยครับ

    ตอบลบ
  2. เด็กน่ารัก

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ25 มกราคม 2555 เวลา 10:56

    ผู้บริหารที่โรงเรียนไม่เป็นประชาธิปไตย สร้างแต่วินัยเชิงรบ

    ตอบลบ
  4. ขอถามความหมายของการอำนวยการได้ไหมค่ะ

    ตอบลบ