วันศุกร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2552

นโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

หายหน้า หายตา ไปนานหน่อยนะขอรับ เนื่องจากต้องอบรมสัมมนาหลักสูตรพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาทั่วประเทศ เและกำลังจะไปเป็นวิทยากรอบรมลูกเสือ ในงานชุมนุมลูกเสือ สร้างสามัคคี ส่งเสริมคนดีสู่สังคม จึงต้องรีบนำความรู้มาให้.........กลัวว่าจะได้ไม่ครบ
กระทรวงศึกษาธิการ
นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฐ์ ได้กำหนดเป้าหมายในการปฏิรูปการศึกษารอบสอง คือ คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ โดยเริ่มขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษารอบสอง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2552-2561 โดยมุ่งเน้น 3 เรื่องหลัก เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมคือ
1. เรื่องคุณภาพ เป็นการสร้างคุณภาพใหม่ให้เกิดขึ้นในด้านต่างๆดังนี้
1.1 คุณภาพครู
1.2 คุณภาพแหล่งเรียนรู้ และสิ่งแวดล้อมแห่งการเรียนรู้ทั้งในและนอกระบบ
1.3 คุณภาพของสถานศึกษา ควรมีแหล่งเรียนรู้เช่นห้องสมุด อุทยานประวัติศาสตร์ อุทยานวิทยาศาสตร์
1.4 คุณภาพการบริหารจัดการ เน้นการกระจายอำนาจและธรรมาภิบาล
2. เรื่องโอกาส การเปิดโอกาสให้คนไทยทุกกลุ่ม ทุกประเภท ได้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพเช่นผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ เด็กชายขอบตะเข็บชายแดน ฯลฯ
3. เรื่องการมีส่วนร่วม มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการสนับสนุนการจัดการศึกษาและพัฒนาคุณภาพการศึกษา
นโยบายและจุดเน้นการปฏิรูปการศึกษา
1. นโยบายด้านการศึกษา
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีแถลงต่อรัฐสภา วันที่ 29 ธันวาคม 2551 ในด้านการศึกษา ดังนี้
1. ปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ โดยปฏิรูปโครงสร้างและการบริหารจัดการ ปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและระดมทรัพยากรเพื่อการปรับปรุงการบริหารจัดการศึกษา ตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานจนถึงระดับอุดมศึกษา พัฒนาครู พัฒนาระบบการคัดเลือกเข้าสู่มหาวิทยาลัย พัฒนาหลักสูตร รวมทั้งปรับหลักสูตรวิชาแกนกลางรวมถึงวิชาประวัติศาสตร์ ปรับปรุงสื่อการเรียนการสอน พัฒนาทักษะในการคิดวิเคราะห์ ปรับบทบาทการศึกษานอกโรงเรียนเป็นสำนักงานการศึกษาตลอดชีวิต และจัดให้มีศูนย์การศึกษาตลอดชีวิต เพื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ตลอดถึงการส่งเสริมการกระจายอำนาจให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา เพื่อนำไปสู่เป้าหมายคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นคุณธรรมนำความรู้อย่างแท้จริง
2. ส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาทั้งระบบ โดยมุ่งเน้นในระดับอาชีวะศึกษา และอุดมศึกษา เพื่อให้สนองตอบความต้องการด้านบุคลากรของภาคเศรษฐกิจ
3. พัฒนาครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้ได้ครูดี ครูเก่ง มีคุณธรรม มีคุณภาพ และมีวิทยฐานะสูงขึ้น ลดภาระงานครูที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนการสอนตามโครงการคืนครูให้นักเรียน มีการดูแลคุณภาพชีวิตของครู ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้และจัดตั้งกองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตครูควบคู่ไปกับการลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่เน้นการพัฒนาเนื้อหาสาระและบุคลากรให้พร้อมรองรับและใช้ประโยชน์จากระบบเทคโนโลยีสารสนเทศได้อย่างคุ้มค่า
4. จัดให้ทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาฟรี 15 ปี ตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการให้เกิดความเสมอภาคและความเป็นธรรมในโอกาสทางการศึกษาแก่ประชากรในกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทั้งผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ ผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก ผู้บกพร่องทางร่างกายและสติปัญญา และชนต่างวัฒนธรรม รวมทั้งยกระดับการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กในชุมชน
5. ยกระดับคุณภาพมาตรฐานการศึกษาระดับอาชีวะศึกษาและอุดมศึกษาไปสู่ความเป็นเลิศ โดยการจัดกลุ่มสถาบันการศึกษาตามศักยภาพ ปรับเงินเดือนค่าตอบแทนของผู้สำเร็จอาชีวะให้สูงขึ้น โดยภาครัฐเป็นผู้นำและเป็นแบบอย่างของการใช้ทักษะอาชีวะศึกษาเป็นเกณฑ์กำหนดค่าตอบแทนและความก้าวหน้าในงานควบคู่กับการพัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรม ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนา
6. ปรับปรุงระบบการบริหารจัดการกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ให้มีการประนอมการไกล่เกลี่ยหนี้ รวมทั้งขยายกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาเพิ่มขึ้น เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาอาชีวศึกษาและปริญญาตรีเพิ่มขึ้น
7. ส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน และประชาชน ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศเชิงสร้างสรรค์อย่างชาญฉลาด เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้
8. เร่งรัดการลงทุนด้านการศึกษาและเรียนรู้อย่างมีบูรณาการในทุกระดับการศึกษาและในชุมชน โดยใช้พื้นที่และโรงเรียนเป็นฐาน บูรณาการทุกมิติ และยึดเกณฑ์การประเมินของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาเป็นหลักในการยกระดับคุณภาพโรงเรียนที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน และส่งเสริมความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัยไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาและวิจัยพัฒนาในภูมิภาครวมทั้งเสริมสร้างสังคมแห่งการเรียนรุ้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตในชุมชน โดยเชื่อมโยงบทบาทสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษาและสถานบันทางศาสนา
2. นโยบายปฏิรูปการศึกษารอบสอง
2.1 สภาการศึกษาได้ข้อสรุปปฏิรูปการศึกษารอบสอง
นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมสภาการศึกษาว่าที่ประชุมได้สรุปกรอบปฏิรูปการศึกษารอบสอง โดยกำหนดเป้าหมายที่จะทำให้คนไทยทุกคนได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ ในทุกระดับการศึกษาและทุกมิติตั้งแต่การศึกษาปฐมวัย การศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา ทั้งการศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย และส่วนอื่นๆที่เหลืออย่างครบวงจร โดยได้มุ่งเน้นใน 3 ประเด็นหลักที่จะทำให้เป้าหมายการปฏิรูปการศึกษารอบสอง ประสบความสำเร็จ คือ
1. คุณภาพ ซึ่งได้แก่การพัฒนาคุณภาพครู ส่วนคุณภาพของแหล่งเรียนรู้และการสร้างสิ่งแวดล้อมแห่งการเรียนรู้ หมายถึงคุณภาพของสถานศึกษาสำหรับการศึกษาในระบบและคุณภาพของแหล่งเรียนรู้อื่นๆสำหรับการศึกษานอกระบบ เช่น ห้องสมุด อุทยานประวัติศาสตร์ อุทยานวิทยาศาสตร์หรือแหล่งเรียนรู้ในรูปแบบอื่นๆ รวมทั้งการส่งเสริมการอ่านให้เป็นวาระแห่งชาติ ในเรื่องการบริหารจัดการให้มีคุณภาพมากขึ้น ให้มีธรรมาภิบาลและเกิดการกระจายอำนาจไปสู่พื้นที่และสถานศึกษาอย่างทั่วถึง
2. การสร้างโอกาส ที่จะทำให้คนไทยทุกประเภท ทั้งผู้พิการ ด้อยโอกาสและคนชายขอบกลุ่มอื่นๆเข้าถึงการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ
3. การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม ทั้งภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันครอบครัว สถาบันศาสนาและสถาบันอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษารอบสอง เดินทางไปสู่เป้าหมายจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้น 2 ระดับ คือ คณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษา มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน และให้ไปจัดตั้งกลไกอื่นตามความจำเป็น อาทิ สถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาแห่งชาติ สถาบันคุรุศึกษา และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพแห่งชาติ โดยกำหนดกรอบที่ดำเนินการปฏิรูปการศึกษารอบสอง ตั้งแต่ปี 2552 – 2561 ทั้งนี้จะนำเรื่องนี้เสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาการปฏิรูปการศึกษาในรอบแรกเน้นเรื่องของการปรับโครงสร้างและการจัดการศึกษาในระบบเท่านั้น แต่การปฏิรูปรอบสองจะเน้นเรื่องของคุณภาพ โอกาส และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการจัดการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ ซึ่งเป็นการเติมเต็มการปฏิรูปการศึกษาในรอบแรก
2.2 ทิศทางการปฏิรูปการศึกษารอบสอง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้เสนอแนวทางการปฏิรูปการศึกษารอบสองไว้ 9 ประเด็น
1. การพัฒนาคุณภาพการศึกษา/ผู้เรียน
2. การผลิตและพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา
3. การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารและการจัดการศึกษาและการมีส่วนร่วม
4. การเพิ่มโอกาสทางการศึกษา
5. การผลิตและพัฒนากำลังคน
6. การเงินเพื่อการศึกษา
7. เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา
8. กฎหมายการศึกษา
9. การเรียนรู้ตลอดชีวิต การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อวิเคราะห์และจัดทำแนวทางการปฏิรูปรอบสอง โดยมีความสอดคล้องกับข้อเสนอของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาที่เสนอไว้คือ
1. ด้านการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนให้นักเรียนและโรงเรียนมีคุณภาพตามมาตรฐานทุกระดับ ส่งเสริมให้สถานศึกษาพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในเพื่อนำผลมาใช้ปรับปรุงคุณภาพมาตรฐานการศึกษารวมทั้งการพัฒนาทางวิชาการ เช่น การพัฒนาหลักสูตร การพัฒนากลุ่มสาระต่างๆ เพื่อให้ครูและนักเรียนเข้าถึงองค์ความรู้ได้ง่ายและสะดวก ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งในการสร้างคุณภาพการศึกษาได้
2. ด้านโอกาสทางการศึกษา ดำเนินการส่งเสริมให้ประชากรวัยเรียนได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ฟรี 15 ปี ตามนโยบายของรัฐบาล โดยส่งเสริมให้สถานศึกษาสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มตามศักยภาพ เหมาะสมกับลักษณะและบริบทของสถานศึกษา รวมทั้งการเปิดโอกาส เพื่อให้สามารถรองรับการบริหารจัดการ ตามนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. ด้านการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดำเนินการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งระบบอย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง โดยมีความเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ก.ค.ศ. สค.บศ. สถาบันอุดมศึกษา องค์กรภาคเอกชน และต่างประเทศ ส่งเสริมให้มีการจัดทำแผนพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นรายบุคคล ( ID Plan ) และให้มีการพัฒนาที่ตรงตามความต้องการของหน่วยงานและบุคคล เพื่อให้การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้อย่างแท้จริง
4. ด้านการพัฒนาระบบการบริหารจัดการเพื่อให้มีความสอดค้องกับการปฏิรูปการศึกษารอบสอง ดำเนินการวิเคราะห์ระบบการบริหารจัดการทั้งระบบตั้งแต่ระดับสถานศึกษา ระดับเขตพื้นที่การศึกษา และระดับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อปรับปรุงส่วนที่ไม่เข้มแข็ง แก้ไข และจัดระบบให้มีความเข้มแข็งเหมาะสมกับการจัดการศึกษาในทุกระดับทั้งการจัดหน่วยงานให้มีความเหมาะสมกับภารกิจองค์กร การพัฒนาระบบการบริหารจัดการการกำหนดขอบเขตบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานหรืองค์คณะบุคคล เป็นต้น เพื่อให้การบริหารจัดการและการจัดโครงสร้างองค์กรเป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จของการพัฒนาคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน
3. นโยบายจุดเน้นสำคัญ
3.1 นโยบายเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ
ด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 49 ได้บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาไม่น้อยกว่า 12 ปี ที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม ( ฉบับที่ 2 ) พ.ศ.2545 มาตรา 10 วรรค 1 บัญญัติว่า การจัดการศึกษาต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกันในการับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี ที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประกอบกับคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี ได้กำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการตามเจตนารมณ์ดังกล่าวในปีแรก โดยกำหนดไว้ในข้อ 1.3 โดยสนับสนุนตำราในวิชาหลักให้แก่ทุกสถานศึกษา จัดให้มีชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียนฟรีให้ทันปีการศึกษา 2552 และสนับสนุนค่าใช้จ่ายอื่นๆเพื่อชดเชยรายการต่างๆที่สถานศึกษาเรียกเก็บจากผู้ปกครอง อีกทั้งนโยบายของรัฐด้านการศึกษา ข้อ 3.1.4 กำหนดว่าจัดให้ทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาฟรี 15 ปี ตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลายพร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการให้เกิดความเสมอภาคและความเป็นธรรมในโอกาสทางการศึกษาแก่ประชาชนในกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ทั้งผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก ผู้บกพร่องทางร่างกายและสติปัญญาและชนต่างวัฒนธรรม รวมทั้งยกระดับการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กในชุมชน
วัตถุประสงค์
เพื่อให้นักเรียนทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สำหรับรายการหนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียน และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนที่ภาครัฐให้การสนับสนนุ
เรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ ได้ให้ค่าใช้จ่ายดังนี้
1. ค่าหนังสือเรียน
2. ค่าอุปกรณ์การเรียน
3. ค่าเครื่องแบบนักเรียน
4. ค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน
3.2 นโยบาย 3 D
นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ชี้แจ้งการปฏิรูปการศึกษารองสองเน้นให้เด็กไทยเป็นคนเก่ง ดี มีสุขและภูมิใจในความเป็นไทย ที่วิทยาลัยชุมชนพังงา เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2552 พร้อมแนะแนวปฏิบัติตามนโยบาย 3 D
1. Democracy คือประชาธิปไตย ต้องการให้เด็กมีความรู้ ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตย
2. Decency คือคุณธรรม จริยธรรม รู้ผิดชอบ ชั่วดี
3. Drug คือยาเสพติด เด็กต้องห่างไกลยาเสพติด

เป็นอย่างไรบ้างครับ พยายามอ่านและทำความเข้าใจหน่อยนะ เพราะเร่งรีบในการสรุปให้จริงๆ แล้ววันพรุ่งนี้เจอกัน ......เหนื่อย....ง่วง....แล้วจ้า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น