วันเสาร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2552

ศักดิ์ของกฎหมายและเศรษฐกิจพอเพียง

ครูสุโขทัย ขอนำความรอบรู้ทั่วไป...ให้ทุกท่านได้อ่านเผื่อว่าจะเป็นประโยชน์เกี่ยวกับพลวัตรต่างๆจ้า...........
รัฐธรรมนูญ คือกฎหมายสูงสุดของประเทศ ซึ่งกำหนดรูปแบบและหลักการในการจัดระเบียบการปกครอง การใช้อำนาจของผู้ปกครอง การสืบต่ออำนาจ ขอบเขตหน้าที่และสิทธิเสรีภาพของประชาชน
การบัญญัติกฎหมาย
กฎหมายคือ ข้อบังคับของรัฐที่กำหนดความประพฤติของคนในสังคม
พระราชบัญญัติ คือกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาและอนุมัติ โดยรัฐสภาหรือองค์กรที่ทำหน้าที่นิติบัญญัติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการประกาศใช้ และเมื่อประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้วก็ถือว่ามีผลบังคับใช้โดยสมบูรณ์
พระราชกำหนด คือกฏหมายที่พระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของฝ่ายบริหารตราขึ้นใช้บังคับตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี ในทางปฏิบัติ พระราชกำหนดก็คือกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหารหรือคณะรัฐมนตรี พระราชกำหนดจะออกได้ก็ต่อเมื่อเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ของสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจ ป้องกันภัยพิบัติสาธารณะ
พระราชกฤษฏีกา คือกฎหมายลำดับรองที่พระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของฝ่ายบริหารทรงตราขึ้นใช้บังคับตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี ซึ่งในทางพฤตินัย พระราชกฤษฏีกาก็คือกฎหมายแม่บทภายในขอบเขตที่กฏหมายแม่บทได้ให้อำนาจไว้ พระราชกฤษฏีกาจะมีผลบังคับใช้เมื่อมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว โดยไม่ผ่านการพิจารณาอนุมัติจากสภาไม่ว่าก่อนหรือหลังการประกาศใช้
ศักดิ์ของกฎหมาย ( Hierarchy of Low ) โดยมีลำดับชั้นจากสูงสุดไปต่ำสุด ดังนี้คือ
1. รัฐธรรมนูญ
2. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด
3. พระราชกฤษฏีกา
4. กฎกระทรวง
5. ข้อบัญญัติหรือข้อบังคับขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
แนวพระราชดำริ
การดำเนินงานตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นการดำเนินงานที่มุ่งพัฒนาและช่วยเหลือพสกนิกรทั่วไป โดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา โดยมีโครงการต่างๆมากมาย
1. โครงการตามพระราชประสงค์ หมายถึง โครงการซึ่งทรงศึกษาทดลองปฏิบัติเป็นส่วนพระองค์ ทรงศึกษา หารือกับผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์สาขาต่างๆทรงแสวงหาวิธีทดลอง ปฏิบัติ ทรงพัฒนาส่งเสริมและแก้ไขดัดแปลงวิธีการ ในช่วงระยะหนึ่งเพื่อพัฒนาดูแลผลผลิตทั้งในและนอกพระราชฐาน
2. โครงการหลวง เป็นโครงการที่มุ่งพัฒนาชาวไทยภูเขาให้รอดพ้นจากความทุกข์ยากลำเค็ญได้ด้วยวิธีการปลูกพืชทดแทนฝิ่น และให้ละเลิกการตัดไม้ทำลายป่า มาสู่วิถีเกษตรรูปแบบใหม่ที่ทำให้มีรายได้ยิ่งขึ้น
3. โครงการในพระบรมราชานุเคราะห์ หมายถึง โครงการที่พระองค์ได้พระราชทานข้อแนะนำแนวพระราชดำริให้เอกชนไปดำเนินการด้วยกำลังเงิน กำลังปัญญาและกำลังแรงงาน พร้อมทั้งการติดตามผลงานให้ต่อเนื่องโดยภาคเอกชน
4. โครงการตามพระราชดำริ หมายถึงโครงการที่ทรงวางแผนพัฒนา ทรงเสนอแนะให้รัฐบาลร่วมดำเนินการตามพระราชดำริ โดยพระองค์เสด็จพระราชดำเนินร่วมทรงงานกับหน่วยงานของรัฐบาลในแนวทางปัจจุบันเรียกว่า โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
เศรษฐกิจพอเพียง ( Sufficiency Economy )
เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสชี้แนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยตลอดนานกว่า 25 ปี ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้แนวทางการดำรงชีวิตของประชาชนในทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน ถึงระดับประเทศ โดยเน้นการดำเนินชีวิตในทางสายกลาง
ความหมายของคำว่าพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกัน ในตัวที่ดีพอต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคโลกาภิวัฒน์
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
3 ห่วง 2 เงื่อนไข
3 ห่วง
1. ความพอประมาณ ความพอดีที่ไม่น้อยและไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
2. ความมีเหตุผล การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้น ต้องเป็นไปอย่างมีเหตุมีผล
3. การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ
2 เงื่อนไข
1. เงื่อนไขความรู้ ประกอบด้วยความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการที่เกี่ยวข้อง ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณา
2. เงื่อนไขคุณธรรม ประกอบด้วยมีความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต และความอดทนมีความเพียรใช้สติปัญญา
ศูนย์การศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีจำนวน 6 แห่ง ได้แก่
1. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ จังหวัดฉะเชิงเทรา มีงานหลักคือ ทำการค้นคว้าทดลองและสาธิตเกี่ยวกับการพัฒนาที่ดินที่เสื่อมโทรมให้กลับฟื้นค้นสภาพและใช้ทำมาหากินได้
2. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ จังหวัดเพชรบุรี ทำการศึกษาพัฒนาและปรับปรุงสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศบริเวณชายฝั่งและการประมง
3. ศูนย์การศึกษาพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ จังหวัดจันทบุรี ทำการศึกษาการพัฒนาและปรับปรุงสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศบริเวณชายฝั่งและการประมง
4. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯจังหวัดเชียงใหม่ ศึกษาพัฒนาและค้นคว้าวิจัยเรื่องป่าไม้เสื่อมโทรม และการพัฒนาพื้นที่ต้นนำลำธารเพื่อประโยชน์ทางเกษตรกรรมและการสร้างความชุ่มชื้นให้แก่พื้นผิวดิน
5. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จังหวัดนราธิวาส ทำการศึกษาวิจัยดินพรุในภาคใต้เพื่อให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางด้านเกษตรกรรมได้
6. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯจังหวัดสกลนคร ศึกษาพัฒนาการอาชีพทั้งทางเกษตรกรรมอุตสาหกรรมในครัวเรือนและการพัฒนาหมู่บ้านตัวอย่าง
ตอนนี้เจออะไร ก็นำมาให้หมด อ่านให้หมด จำให้ได้ก็แล้วกันนะขอรับ..........ขอบคุณที่เข้ามาอ่าน...ขอบคุณที่แสดงความคิดเห็น..........

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น